เปิด 3 ผลศึกษา'วัคซีนโควิด19สลับชนิด'ในไทย
1 ใน 4 มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 คือ “การให้วัคซีนสลับชนิด โดยให้ซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์” ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวอยู่บนฐานงานวิชาการรองรับที่มีผลการศึกษาเบื้องต้นออกมา 3 แหล่ง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ,ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)
1.การศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการศึกษาระดัลแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 (ไวรัสก่อโรคโควิด19) หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด ข้อมูล ณ 9 ก.ค.2564 โดยเป็นซิโนแวค เข็มที่ 1 และแอสตร้าฯเข็มที่2 ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดระดับ Anti-SARS-CoV-2-IgG เชิงปริมาณ ณ ศูนย์วิจัยทางคลินิก สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตัวอย่างในโครงการการเตรียมชุดตัวอย่างเพื่อประเมินประสิทธิภาพ ชุดทดสอบ โควิด-19
พบว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มแรกแล้วตามด้วยแอสตร้าฯ ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ 8 เท่า อาจจะมีผลดีต่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา
2.การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การศึกษาระดับแอนติบอดี SARS-CoV-2 หลังการฉีดวัคซีนโควิด19ต่างชนิด ซึ่งศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไข้มากกว่า 40 คน ที่ติดตามมา กลุ่มแรกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันที่เกิดมาสูงเท่ากับคนติดเชื้อธรรมชาติแล้วหาย ป้องกัน สายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่สายพันธุ์เดลตาป้องกันไม่ได้ ถ้าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มห่างกันที่ 10 สัปดาห์ วัดระดับภูมิที่ 14 สัปดาห์ ภูมิจะสูงเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ให้ภูมิสูง แต่ถ้าฉีด 2เข็มสลับกัน ให้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ภูมิต้านทานอยู่ที่ 800 จะเห็นว่าภูมิขึ้นใกล้เคียงฉีดแอสตร้า 2 เข็มที่ภูมิต้านทานอยู่ที่ 900 แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิอยู่ที่ 100 ส่วนการติดชื้อธรรมชาติอยู่ที่ 70-80
"การฉีดสลับชนิดนี้ โอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้มีมากกว่า และการสัมฤทธิ์ผลภูมิสูงขึ้นใช้เวลา 6 สัปดาห์ ขณะที่ถ้าใช้แอสตร้าฯ 2 เข็ม ใช้วลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ยาวนานกว่ากันเท่าตัว"ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคที่รุนแรงรวดเร็ว จะรอถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้เพื่อให้ภูมิสูงขึ้นเร็ว การฉีดสลับชนิดใช้เวลา 6 สัปดาห์ภูมิสูงใกล้เคียงกับการฉีด 12 สัปดาห์ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยในขณะนี้ที่มีการระบาดของโรค และไทยมีวัคซีน 2 ชนิด ส่วน อนาคตถ้ามีวัคซีนอื่นที่พัฒนาดีกว่า สลับชนิดดีกว่า ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรืออนาคตถ้ากลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจมีวัคซีนจำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี
และ3.การศึกษาของไบโอเทค เรื่อง การศึกษาระดับแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า ตั้งใจจะโชว์ผลนี้หลายวันแล้ว แต่รอให้มีการตัดสินใจใช้วัคซีนแอสตร้าฯ เป็นตัว Boost ต่อจาก ซิโนแวคอย่างเป็นทางการก่อน เพราะจริงๆข้อมูลชุดนี้น่าจะเป็นหนึ่งที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจการใช้วัคซีนที่มีอยู่
โจทย์คือ ตอนนี้เรามีสายพันธุ์เดลตาบุกหนัก แต่วัคซีนที่มี คือ ซิโนแวค (หรือ ซิโนฟาร์ม) กับ แอสตร้าฯ เราจะทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการวัคซีน 2 ชนิดนี้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ขอให้นำ mRNA vaccine ออกจากสมการก่อนเพราะเรายังไม่มี
Sinovac เป็นวัคซีนที่ทำจากไวรัสโดยตรง ถึงแม้จะกระตุ้นภูมิไม่ดี แต่ฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายมองเห็นสิ่งแปลกปลอมนั้นได้ ข้อดีคือ สามารถฉีดเข็ม 2 กระตุ้นได้ไว เพียงแต่ว่าการใช้ Sinovac เองเป็นตัวกระตุ้น (boost) จะได้ภูมิที่ไม่มาก จึงจำเป็นต้องใช้เข็มที่ 2 ควรเป็นแบบอื่นซึ่งคือ แอสตร้าฯ ที่มีอยู่ ซึ่งถ้า Sinovac เข็มแรก + แอสตร้าฯ เข็มสอง จะมีภูมิได้ภายใน 5-6 สัปดาห์ ส่วนกรณีของแอสตร้าฯมีข้อเสียตรงที่ว่าเข็ม 2 ต้องรอนานไปกว่า 8-12 สัปดาห์ ทำให้ความเสี่ยงต่อเดลต้า ในขณะที่มีแอสตร้าณ 1 เข็ม (ซึ่งไม่พอต่อเดลต้า) ยาวไปอีก
ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งตัวอย่างซีรั่มจำนวน 16 ตัวอย่าง รวมกับที่มีอีก 1 ตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากคนที่ฉีด Sinovac เข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ จำเป็นต้องได้แอสตร้าฯเข็มสอง 4 สัปดาห์หลังเข็มแรก นำตัวอย่างดังกล่าวมาทดสอบดูความสามารถในการยับยั้งไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์ของ Wuhan, Alpha และ Delta เพื่อดูว่าภูมิจากคนเหล่านั้นลดลงมากน้อยขนาดไหน ซึ่งโชคดีที่มีข้อมูลจากผู้ที่ได้รับ Sinovac 2 เข็ม จำนวน 23 คนต่อเดลต้า มาเปรียบเทียบ จะเห็นว่า 17 ตัวอย่างมีค่าที่ยับยั้งไวรัสตัวแทนของ Wuhan ที่สูงที่เดียว แต่เมื่อทดสอบกับแอลฟ่าและเดลต้า ค่าลดลงมาประมาณ 3 เท่า เหลือ ประมาณ 180 กว่าๆ
ตัวเลขนี้บอกอะไรได้บ้าง? จะเห็นว่า ค่า 180+ ไปตรงกับประสิทธิภาพที่ประมาณ 80% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ตัวเลขนี้มาจากข้อมูลที่เก็บมาจากสายพันธุ์แอลฟ่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ตัวเลขของเดลต้าจะสูงกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าที่ได้จาก Sinovac 2 เข็ม
ผลการทดลองนี้น่าจะเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเปลี่ยนการใช้วัคซีนครั้งนี้ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ถ้า mRNA vaccine มีให้เป็นตัวเลือก การใช้ร่วมกับแอสตร้าฯ ก็จะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่ต้องคุยกัน
แง่ความปลอดภัย ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯมีการพิจารณา ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค.2564 ประเทศไทยมีผู้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 แล้วราว 1,102 ราย เป็นชาย 344 ราย และหญิง 758 ราย ค่ามัธยฐานอายุ 38 ปี “ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2”