เช็คให้ชัวร์ก่อนซื้อ ‘Antigen Test kit’ ตรวจเองที่บ้าน ยี่ห้อไหน? ข้อควรระวังอะไรบ้าง?
หลังจากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ประกาศบริษัทที่ขึ้นทะเบียนชุดตรวจ 'Antigen Test kit ' สำหรับประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจไปตรวจเองได้ที่บ้าน
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องรอคิวตรวจโควิด-19ด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรอง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้นและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
วันที่ 16 ก.ค.2564 ถือเป็นวันแรกทีมีการจัดจำหน่ายชุดตรวจ 'Antigen Test kit ' สำหรับประชาชน ที่สามารถหาซื้อไปตรวจด้วยตนเองได้ที่บ้าน และต้องซื้อผ่านร้านที่อย.กำหนดเท่านั้น โดยอย. ได้มีการประกาศบริษัทที่ขึ้นทะเบียน ชุดตรวจ 'Antigen Test kit สำหรับประชาชน' ทั้งหมด 4 รายการ 4 บริษัท
- เช็ค 4 บริษัทขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง
ชุดตรวจ 'Antigen Test kit ' สำหรับประชาชน 4 รายการ 4 บริษัท ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีดังนี้
1.STANDRD Q COVID-19 Ag Home Test ของ บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย ) จำกัด
2.SARS-CoV-2 Antigen Self Test Nasal ของบริษัท โรส ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
3.SARS-Cov-2 Antigen Test Kit(GICA)ของบริษัท เจเนอรัสไซเอนซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
4.SARS-Cov-2 Antigen Rapid Test Kit (Colloidal Gold Immunochromatography) ของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด
- ย้ำก่อนซื้อต้องดูฉลากระบุ“บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้”
ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ Antigen Test kit เป็นช่องทางที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง โดย อย. ได้มีการอนุมัติขึ้นทะเบียน ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยตนเอง ใน 4 รายการ จาก 4 บริษัท และจะวางจำหน่ายในสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และร้านขายยาที่มีเภสัชกร เพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการใช้ วิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจ วิธีการแปลผล ข้อปฏิบัติตัวหลังทราบผลการตรวจ และการทิ้งชุดตรวจอย่างเหมาะสม
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าขอให้ผู้บริโภคสังเกตที่ฉลากของชุดตรวจจะมีข้อความภาษาไทยระบุว่า “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” และเลขที่ประเมินเทคโนโลยี ที่ได้รับอนุมัติจาก อย. ปรากฏบนฉลากหรือเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ด้วย ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวจะเป็นการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย โดยภายในชุดตรวจจะมีคู่มืออธิบายถึงวิธีการใช้ และวิธีการแปลผลฉบับภาษาไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ได้ได้อย่างถูกต้อง
- เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อชุดตรวจผ่านสื่อออนไลน์
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถสามารถตรวจสอบชุดตรวจที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ได้ทางเว็บไซต์ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ และผู้บริโภคไม่ควรซื้อชุดตรวจ Antigen Test kit ด้วยตนเองผ่านทางสื่อออนไลน์หรือแหล่งอื่นๆ เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อการนำไปใช้และแปลผลผิดพลาด
ส่วนผู้ประกอบการที่จะโฆษณาจำหน่ายชุดตรวจต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากใครพบเห็นสามารถแจ้งได้ทางสายด่วน อย. 1556
- วิธีการตรวจ Antigen Test kit ด้วยตนเองที่บ้าน
ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ Antigen Test kit ใช้ตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 เป็นชุดทดสอบที่อนุญาตให้ประชาชน ใช้เพื่อตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยเก็บตัวอย่างทางจมูกหรือปากหรือน้ำลาย ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะกำหนดตัวอย่าง ที่ใช้ตรวจไม่เหมือนกัน ให้อ่านในเอกสารกำกับที่มาพร้อมกับชุดทดสอบ
สำหรับวิธีการตรวจ Antigen Test kit ด้วยตนเองที่บ้าน มีดังนี้
1.เตรียมตัวก่อนตรวจ
-ต้องมีการทำความสะอาดบริเวณที่ตรวจ นำแอลกอฮอล์ฉีดพ่นลงบนโต๊ะที่ใช้วางอุปกรณ์ Antigen test kit เพื่อทำการฆ่าเชื้อ
- จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ครบ ควรซื้ออุปกรณ์ และชุดตรวจที่ผ่านการลงทะเบียนกับอย.แล้ว
-ล้างมือให้สะอาด สวมถุงมือให้เรียบร้อย
-ควรตรวจคนเดียว ไม่ควรอยู่ร่วมกับผู้อื่น คนหมู่มาก
2.อุปกรณ์ในการตรวจ
-ตลับจะมีหลุม หรือเครื่องตรวจ Antigen Test kit ที่มีกระดาษกรองอยู่ด้านล่าง และจะมีตัวอักษร คือ T และC
-ไม้ Swab หรือไม้พันสำลีต้องมีการบรรจุเรียบร้อย ไม่มีรอยฉีก
- มีหลอดใส่น้ำยาสกัด
-ฝาหลอดหยด
-มีเอกสารกำกับชุดตรวจที่อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจ การแปลผล และการทิ้ง
3.ขั้นตอนวิธีการใช้
-ฉีกซองชุดตรวจ Antigen test kit โดยให้สำรวจวันหมดอายุที่หน้าซองด้วย
-แกะซองไม้ Swab จากด้านที่เป็นด้าม ป้องกันการปนเปื้อน ระหว่างที่ดึงไม้ Swab ออกจากซอง อย่าจับให้เลยขีดที่กำหนดไว้ที่ด้าม
-เอาไม้ Swab แยงเข้าไปในโพรงจมูก ลึกเท่าไรให้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำการใช้ของแต่ละชุดตรวจ อาทิ แยงเข้าไปให้ลึก 2.5 ซม. หรือ 1 นิ้ว เป็นต้น จากนั้นหมุนข้างละไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง หรือ 15 วินาที
-จากนั้นนำไม้แหย่ลงไปในภาชนะที่บรรจุน้ำยาที่ให้มา โดยให้บีบปลายหลอดหลวมๆ เพื่อให้น้ำยาท่วมปลายสำลีไม้ Swab โดยหมุนมากกว่า 10 ครั้ง
- ดึงไม้ออก และนำไม้ทิ้ง จากนั้นปิดฝาภาชนะบรรจุน้ำยา-จุ่มไม้สำลีลงในหลอดใส่น้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ เสร็จแล้วนำไม่ออก ปิดฝาหลอดหยดทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที
-จากนั้นหยดน้ำยาในช่องวงกลมเล็กๆ บนแผ่นทดสอบ ประมาณ 4-5 หยด จับเวลาประมาณ 15-30 นาที แล้วแต่ยี่ห้อ โดยห้ามอ่านค่าเกินเวลา เนื่องจากอาจทำให้ค่าผิดพลาดได้
4.การอ่านผล
- ถ้าตัว C ไม่มีขีดขึ้น แสดงว่า การตรวจไม่สมบูรณ์ ใช้ไม่ได้ ต้องไปหาชุดตรวจใหม่มาตรวจ เนื่องจากแปลผลไม่ได้
-ถ้าขึ้น 2 แถบที่ตัว C และตัว T แสดงว่าเป็นบวก จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมแบบ RT-PCR
-ถ้าขึ้นเฉพาะแถบ C แต่ตัว T ไม่ขึ้น แสดงว่าเป็นลบ ซึ่งท่านอาจจะไม่มีเชื้อ หรือเชื้อยังน้อยอยู่ จะต้องมีการตรวจซ้ำอีก 3-5 วัน
5.วิธีการจัดทิ้งชุดตรวจ
-นำชุดตรวจที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์ของชุดตรวจที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ
-แล้วแยกมาใส่ถุงเปิดให้มิดชิดและทิ้งขยะ
-หากใครต้องการศึกษารายละเอียดขั้นตอนสามารถไปดูคลิปได้ที่เว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์
6.ข้อควรระวังในการใช้
-ควรจะเลือกชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.เท่านั้น
-ต้องทำความสะอาดบริเวณที่ใช้ชุดตรวจ เช่น โต๊ะที่วางชุดตรวจ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
-อ่านวิธีการใช้ทุกครั้ง ตรวจเช็คชุดตรวจให้ละเอียด
-การตรวจลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงเบื้องต้น ซึ่งผลอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้
-กรณีอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ผลตรวจเป็นลบ ต้องมีการตรวจซ้ำอีก 3-5 วัน
-หลังจากใช้ชุดตรวจเสร็จแล้วต้องทิ้งให้ถูกสุขลักษณะ เพราะชุดตรวจถือเป็นขยะติดเชื้อและแพร่เชื้อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'Antigen Test kit' สำหรับประชาชน เริ่มจัดจำหน่าย 16 ก.ค.นี้
'Antigen Test Kit' ต้องแยงจมูกลึกแค่ไหน? 'หมอแล็บแพนด้า' ตอบให้!
เช็ค 4 ยี่ห้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองที่ผ่านอย.
- แนวปฎิบัติเมื่อผลออกมาเป็นบวก หรือลบ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าชุดตรวจ Antigen Test kit ด้วยตนเอง ถือเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งประสิทธิภาพประสิทธิผล อาจไม่เท่า RT-PCR แต่สะดวกกว่า ทำได้ง่ายกว่า ทำให้สามารถแยกผู้ที่ไม่ติดเชื้อออกไปได้ และการตรวจโควิด จะครอบคลุมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ชุดตรวจ สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องตรวจ คนที่มีอาการ กลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่ควรตรวจ และควรจะซื้อชุดตรวจที่ได้มาตรฐาน
ชุดตรวจ Antigen Test kit ถ้าติดเชื้อมาไม่นาน และมีเชื้อไม่มาก อาจจะตรวจแล้วเป็นลบได้ จึงจำเป็นต้องตรวจซ้ำ เพราะหากมาตรวจในระยะเร็วเกินไป อาจจะไม่เจอเชื้อโควิด 19 ดังนั้น การตรวจ Antigen Test kit ด้วยตนเอง
ถ้ามีผลเป็นลบ 3-5 วันจะต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง และระหว่างการรอตรวจควรแยกตัวออกมาจากผู้อื่น และควรกักตัวเองอยู่บ้าน ไม่ออกไปพบปะผู้คน ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ถ้าผลเป็นบวก ต้องแจ้งหน่วยงานใกล้บ้านที่ติดต่อได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลใหญ่ อาจเป็นคลินิกอบอุ่น สถานพยาบาลเอกชนก็ได้ แยกกักตัวเองจากผู้อื่น เช่น แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สวมหน้ากากตลอดเวลา สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิประจำ ถ้ามีการหายใจลำบากควรคิดต่อขอรับการรักษา แจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเองให้ทราบ
- ชุดตรวจแอนติบอดี ยังไม่อนุญาตให้ตรวจด้วยตนเอง
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ประชาชนสามารถใช้ชุดทดสอบแอนติเจน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ด้วยตนเอง โดยประชาชนหาซื้อได้ที่คลินิก และร้านขายยาแผนปัจจุบัน หรือตามที่ อย.กำหนด ไม่แนะนำซื้อทางออนไลน์
ส่วนชุดทดสอบ แอนติบอดี กระทรวงสาธรณสุขยังไม่อนุญาตให้ประชาชนนำมาตรวจได้เอง ทั้งนี้ชุดทดสอบต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้วเท่านั้น ซึ่งสามารถดูรายชื่อชุดทดสอบ ได้ที่เว็บไซต์ของ อย.
- หากไม่เสี่ยง ไม่จำเป็นต้องซื้อชุด ‘Antigen Test kit’
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า 80% ของผู้ป่วยที่ตรวจ Antigen Test kit จะมีอาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องไปนอนที่โรงพยาบาล แต่ขอให้เข้าร่วม Home Isolation แยกกันตัวรักษาที่บ้าน ซึ่งจะได้รับอุปกรณ์ การติดตามอาการ และการดูแลจากแพทย์ ซึ่งถ้าประชาชนไปซื้ออุปกรณ์ Antigen Test kit มาตรวจเอง หากมีอาการหรือผลออกมาเป็นบวก ขอให้โทร.สายด่วน 1330
นอกจากนั้น ทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะให้ข้อมูลคลินิกอบอุ่น คลินิกสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม หรือให้ติดต่อไปที่กทม. จะมีเจ้าหน้าที่สอบถามถึงผลที่ไปตรวจ และหากต้องการเข้าร่วม Home Isolation ก็แจ้งความจำนงได้ เจ้าหน้าที่จะวิเคราะห์อาการว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มไหน สีเขียว สีเหลือง สีแดง และจะได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
“หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องซื้อชุดตรวจ Antigen Test kit มาใช้ เพราะชุดตรวจดังกล่าว แม้จะมีการตรวจได้ไว แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็ไม่มีประโยชน์ และไม่ต้องไปเสียเงินซื้อชุดตรวจ ถ้ามีอาการ เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถซื้อชุดตรวจมาตรวจด้วยตนเองได้ หรือไปที่ศูนย์อนามัย คลินิกชุมชนอบอุ่น ไปรพ. และให้ประวัติ การซื้อตรวจเองก็ต้องดูชุดตรวจที่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ” นพ.ธงชัย กล่าว
อ้างอิง: หมอแล็บแพนด้า, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.),กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์