เปิดงบ 'เงินเยียวยา' ม.33 รัฐเคาะเยียวยาเพิ่มเป็น 13 จังหวัด
เปิดงบจัดสรร "เงินเยียวยา" ล่าสุด เมื่อรัฐเคาะเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 13 จังหวัด กลุ่มนายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 ของ 3 จังหวัดใหม่ ก็จะได้เยียวยาเหมือนกลุ่ม 10 จังหวัดเดิม ชวนส่องรัฐใช้กรอบวงเงินไปเท่าไร่? เช็คที่นี่
หลังจากที่วันนี้ (20 ก.ค.) ครม. มีมติเห็นชอบยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ในพื้นที่ 10 จังหวัดเดิม ล่าสุด.. เพิ่มใหม่เป็น 13 จังหวัด พร้อมเห็นชอบจ่าย "เงินเยียวยา" เพิ่มเติมใน 3 จังหวัดใหม่ด้วย ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา (ตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 27)
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ "เยียวยา" ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มเติม ยังคงครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมใน 9 กลุ่มอาชีพ เป็นระยะเวลา 1 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ครม.ไฟเขียวจ่ายเยียวยาเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัดล็อคดาวน์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา
- อัปเดตล่าสุด! เช็คเงื่อนไข '9 อาชีพ' รับ 'เงินเยียวยา' สูงสุด 1 หมื่นบาท รับ 'ล็อกดาวน์' 13 จังหวัด
- ครม.เคาะ ‘เยียวยาล็อกดาวน์’ ชดเชยรายได้ 9 อาชีพ 10 จังหวัด วงเงิน 4.2 หมื่นล้าน
- 'นายกฯ' นำถก 'ครม.' จ่อเคาะเยียวยาพื้นที่แดงเข้ม ลุ้นไฟเขียวลดค่าเทอม
โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 แบ่งเป็นเงินเยียวยา 30,000 ล้าน และอุดหนุนค่าน้ำ-ค่าไฟอีก 12,000 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณ 42,000 ล้านบาท
สำหรับกรอบวงเงินที่จะนำมาเยียวยาครั้งนี้ แหล่งข่าวกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จะนำบางส่วนมาจ่าย "เยียวยา" ให้กลุ่มนายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 โดยแจกแจงให้เห็นชัดเจน ระหว่างการเยียวยาในกลุ่ม 10 จังหวัดเดิม และกลุ่ม 3 จังหวัดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ดังนี้
กลุ่ม 10 จังหวัด (เดิม) ใน 9 กลุ่มอาชีพ
กรณีลูกจ้าง : มีลูกจ้างคนไทยที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด 2,870,000 คน โดยรัฐจะจ่ายเยียวยาให้ 2,500 บาทต่อคน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 7,175 ล้านบาท
กรณีนายจ้าง : มีข้อมูลนายจ้าง (บริษัท/ห้างร้าน/ผู้ประกอบการ) ที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด 160,000 กิจการ ซึ่งมีลูกจ้างที่ดูแลอยู่รวม 2,150,000 คน โดยรัฐจะจ่ายเยียวยาให้ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 6,450 ล้านบาท
กลุ่ม 3 จังหวัด (ใหม่) ใน 9 กลุ่มอาชีพ
กรณีลูกจ้าง : มีลูกจ้างคนไทย ที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 272,000 คน โดยรัฐจะจ่ายเยียวยาให้ 2,500 บาทต่อคน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 680 ล้าน
กรณีนายจ้าง : มีข้อมูลนายจ้าง (บริษัท/ห้างร้าน/ผู้ประกอบการ) ที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด 19,200 กิจการ ซึ่งมีลูกจ้างที่ดูแลอยู่รวม 280,000 คน โดยรัฐจะจ่ายเยียวยาให้ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 840 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในกรณีเยียวยานายจ้าง(เจ้าของกิจการ) ที่รัฐจะจ่ายให้ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง แต่ไม่เกิน 200 คนนั้น จะเป็นการนับรวมทั้งลูกจ้าง ม.33 ทั้งลูกจ้างไทย+ลูกจ้างต่างชาติ เนื่องจากเงินช่วยเหลือนายจ้างตรงนี้ เป็นคนละส่วนกับเงินเยียวยากรณีลูกจ้างคนไทย
เช็คชัดๆ 9 กลุ่มอาชีพกิจการที่รัฐกำหนด
ทั้งนี้ ขอย้ำเรื่อง 9 กลุ่มอาชีพ หรือประเภทกิจการที่เข้าเกณฑ์จะได้รับ "เงินเยียวยา" ชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
- กลุ่มอาชีพก่อสร้าง
- กลุ่มกิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร/ร้านอาหาร
- กลุ่มศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ
- กลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ
- กลุ่มอาชีพขายส่ง ขายปลีก และซ่อมยานยนต์
- กลุ่มขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- กลุ่มกิจกรรมการบริหาร และบริการสนับสนุน
- กลุ่มกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
- กลุ่มอาชีพข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
--------------------------
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจรวบรวม (20 ก.ค. 64)