หนักอึ้ง!พยาบาลรพ.บุษราคัม1คนดูแล50ราย พ่วงควงกะจริง-เสริม
ผอ.รพ.บุษราคัมเผยพยาบาล 1 คนต้องดูแลคนไข้เฉลี่ย 50 คน แต่ละวันควงเวรทั้งเวรจริง-เวรเสริม ภาระหนักอึ้ง จ้างคนไข้หายป่วยทำงานต่อ แบ่งเบาภาระงานบุคลากร พร้อมแจงระบบเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ ค่าเบี่้ยเลี้ยง 8 บาท?
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้อำนวยการรพ.บุษราคัม กล่าวว่า รพ.บุษราคัมเปิดดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.2564 ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว โดยรับผู้ป่วยสะสม 10,395 ราย หายป่วยแล้วราว 7,000 ราย ในจำนวนเตียงที่รองรับได้ทั้งหมดกว่า 3,000 เตียง มีคนไข้ที่ต้องใช้ออกซิเจนราว 500 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 170 รายในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 6-9รายต่อวัน และประมาณ 150-160 รายใช้เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว จากที่ช่วง 2 สัปดาห์ก่อน มีคนไข้ใส่เครื่องช่วยหายใจวันละ 50-60 ราย และใส่ท่อช่วยหายในวันละ 1-2 ราย จะเห็นได้ว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนไข้มีทีท่ารุนแรงมากขึ้นและรพ.บุษราคัมไม่ปฏิเสธคนไข้ เพราะฉะนั้นคนไข้ที่เข้ามารพ.บุษราคัมค่อนข้างมีอาการหนัก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบุคลากรเท่าเดิม และมีทีท่าน้อยกว่าเดิม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหนักหน่วง
จากที่รพ.มีเตียงรองรับราว 3,700 เตียงจะเต็มและเกือบเต็มตลอดเวลา ขณะนี้ยังรับคนไข้ทุกวัน คนไข้ใหม่วันละ 300-400 คน ตามกำลังที่เจ้าหน้าที่รองรับได้และจำนวนคนไข้ที่หายและกลับบ้านทำให้มีเตียงหมุนเวียน โดยการรับคนไข้ของรพ.บุษราคัมนั้น จะมาจากการประสานผ่านสายด่วน 1668 1669 และ1330 ผ่านหน่วยงานโดยตรง เช่น โรงเรียนแพทยต่างๆ สถาบันต่างๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)พื้นที่ปริมณฑล และเอ็นจีโอ
“มีคนไข้ที่รพ.บุษราคัมราว 3,500 เตียง มีเจ้าหน้าที่พยาบาลราว 210 คน การทำงานแต่ละวันแบ่งเป็น 3 ผลัด ผลัดละ 70 คน เท่ากับพยาบาล 70 คนให้บริการดูแลคนไข้ 3,500 คน แต่ละผลัดพยาบาล 1 คนต้องดูแลคนไข้ราว 50 คน ซึ่งจะเป็นภาระงานที่เหนื่อยมาก จึงต้องนำอีก 140 คนที่ไม่ได้อยู่เวรในผลัดนั้นมาเสริม ดังนั้น แต่ละวันนอกจากเจ้าหน้าที่ต้องอยู่เวรประจำของตัวเองแล้ว ยังต้องอยู่เวรเสริมช่วยอีกหลายคาบมาก แต่ละคนในแต่ละวันจะต้องอยู่เวรมากกว่า 1 กะ เป็นภาระงานที่หนักมาก และไม่เฉพาะพยาบาล และไม่เฉพาะที่รพ.บุษราคัม แต่เป็นภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศในปัจจุบัน”นพ.กิตติศักดิ์กล่าว
แผนลดภาระงานเจ้าหน้าที่
ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในรพ.บุษราคัมราว 300 คน เป็นแพทย์ 50-60 คน พยาบาล 200 คน ที่เหลือเป็นเภสัชกร นักรังสี ที่ดูแลด้านเอกซเรย์ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการขอความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้พนักงานฝ่ายแบคออฟฟิสมาช่วยด้านเอกสารอีก 20 คน เพื่อลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ที่หายจากโรคครบ 14 วัน จะจ้างเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเปล อย่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การพลิกตัวคนไข้ที่มีอาการหนัก อย่างพยาบาลคนเดียวทำไม่ไหว หรือแม้แต่การช่วยทำความสะอาด เป็นต้น โดยขึ้นกับความสมัครใจของผู้ป่วย เพื่อมาช่วยงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง ขอรับอาสาสมัครจากภูมิภาค แต่ขณะนี้ตัวเลขระบาดในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรุงเทพและปริมณฑล โดยสัดส่วน 50 ต่อ 50 โดยที่ผ่านมารพ.บุษราคัมมีเจ้าหน้าที่จากภูมิภาคเกือบ 100 %
“เมื่อภูมิภาคเริ่มมีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาค่อนข้างจะลำบาก ประกอบกับมีการงดบิน พื้นที่ภูมิภาคก็ระบาด บ้านของตัวเองก็ลุกเป็นไฟ แต่เมืองหลวงก็เช่นกัน ดังนั้น ทุกท่านที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขมีสำนึกในการช่วยเหลือประเทศชาติอยู่แล้ว จึงมีการอาสามาช่วย โดยบุคลากรที่อยู่ในภูมิภาคที่จะมาช่วยในบุษราคัมก็จะทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดด้วย”นพ.กิตติศักดิ์กล่าว
เพิ่มค่าล่วงเวลา 2 เท่า
นพ.กิตติศักดิ? กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สื่อโซเชียลฯระบุถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆนั้น เป็นไปตามระเบียบราชการ ซึ่งรพ.บุษราคัม เป็นรพ.ลูกข่าย ที่มีแม่ข่ายคือ รพ.พระนั่งเกล้า ระเบียบจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภทที่ต้องจ่ายจากพระนั่งเกล้าก็เป็นไปตามนั้น แต่ระเบียบจากต้นสังกัด ก็เป็นไปตามระเบียบราชการทั้งสิ้น สำหรับภาระงานที่หนักขึ้นในเดือน ก.ค. ปลัดสธ. มีดำริดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ โดยอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจตามภาระงานที่มากขึ้นของผู้ที่ปฏิบัติงานที่รพ.บุษราคัม ซึ่งจะมีการพิจารณาผ่านคณะกรรมการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดยอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการจังหวัด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ของรพ.บุษราคัม ส่วนอื่นๆนอกรพ.ก็อยู่ภายใต้ความเห็นของหน่วยราชการ หรือหน่วยบริการนั้นๆ
แจงค่าเบี้ยเลี้ยง 8 บาท
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเบี้ยเลี้ยง 8 บาท นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราเป็นราชการ ทุกอย่างต้องทำตามราชการ ค่าเสี่ยงภัยก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน จัดสรรมาโดยมติครม. จัดสรรเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือน และค่าเสี่ยงภัยก็เหมือนกันทั่วประเทศ ส่วนค่าตอบแทนอื่นๆ อย่างการเดินทางจากที่บ้านมาที่ทำงาน อยู่ที่การเบิก ซึ่งมีรอบเบิก ตัวเลข 8 บาทน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างการสื่อสาร เพราะมีระเบียบการเบิกจ่ายของปี 2560 โดยส่วนนี้ได้มอบให้ทางการเงินของรพ.พระนั่งเกล้า ให้ไปสอบทวนเรื่องนี้ ว่าหากมีส่วนใดที่เป็นสิทธิประโยชน์โดยตรงของเจ้าหน้าที่ ขอให้ดำเนินการอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากทำงานเดือนนี้ มีเอกสารถูกต้อง ก็จะได้ค่าตอบแทนในเดือนถัดไป
เมื่อถามกรณีหากภูมิภาคระบาดหนักขึ้น จนไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังเจ้าหน้าที่มาช่วยที่รพ.บุษราคัม จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงฯไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นั้น จะพยายามทำเต็มที่ จะดูแลทั้งในส่วนภูมิภาค และสนับสนุนกทม.
“ในสถานการณ์วิกฤติที่มีการระบาดรุนแรงของโรคโควิด 19 ภายใต้การทำงานหนักของทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วยบริการสาธารณสุขทุกสังกัด จึงอยู่ในภาวะที่ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน คุยกันเรื่องเชิงบวกในการพัฒนา ข้อเท็จจริงบางเรื่องที่ยังไม่กระจ่างแจ้ง แล้วส่งผลกระทบต่อองค์กร บุคคลหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนักอยู่แล้ว เกินกำลังอยู่แล้ ว รบกวนว่าช่วยดูแลกัน เพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้”นพ.กิตติศักดิ์กล่าว