วิจัยพืชท้องถิ่น ส้มซ่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้
“โควิด-19” ไม่ได้เพียงสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ในบางธุรกิจบางอุตสาหกรรมก็กลายเป็นโอกาสอย่าง “ตลาดสมุนไพร การแพทย์แผนไทย” ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดพบว่าได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
“ตลาดสมุนไพร” มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่าจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และมุ่งเน้นใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสมุนไพรไทยเติบโตทุกปี ถึงปีละ 10% และหลักจากประกาศใช้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 ทำให้อัตราการเติบโตมากกว่าจีนที่เติบโตเฉลี่ย 5.06% ญี่ปุ่น 0.85% และเกาหลีใต้ 5.43% ขณะที่ในตลาดโลกพบว่ามีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยมีการส่งออก “สมุนไพรไทย” อยู่ในหลักแสนล้านบาท แบ่งเป็นส่งออกกลุ่มอาหารเสริมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
ด้วยความต้องการ “สมุนไพร” จำนวนมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ “ชุมชนบ้านส้มซ่า จ.พิษณุโลก”ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นชุนชนน่าเที่ยวตามวิถีชุมชน รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าจากพืชสมุนไพร พืชท้องถิ่นของตนเองให้เป็นที่รู้จักแก่ทุกคน
"ดร.ไฉน น้อยแสง"หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพฯ เล่าว่า ทำงานวิจัยร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านส้มซ่า มาตั้งแต่ปี 2554 ถ่ายทอดกระบวนการวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง การทำสปาให้แก่ชาวบ้าน รวมพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ จนทำให้ตอนนี้แม้เกิดสถานการณ์โควิด แต่ชาวบ้านสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง มีอาชีพ มีรายได้
- วิจัย 'ส้มซ่า' ยกระดับพืชสมุนไพรพืชท้องถิ่น
ตามนโยบาย “ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด” อธิการบดี ที่สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนทำงานวิจัยสู่นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ผ่านการบริการด้านวิชาการ ฉะนั้น การทำงานวิจัยของ มทร.ธัญบุรี จะเป็นการทำงานวิจัยตามโจทย์ที่ชุมชนกำหนด ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยพวกเขามีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
ดร.ไฉน อธิบายว่า การจะยกระดับสมุนไพร พืชท้องถิ่นแต่ละชุมชนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าได้ ต้องมีการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นคือ ภาคเกษตรกร ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสมุนไพรไทย พืชท้องถิ่นไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ
“คุณครูเผอิญ พงษ์สีชมพู” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านส้มซ่า จ.พิษณุโลก เล่าว่าชุมชนบ้านส้มซ่า อยากให้มีการนำส้มซ่ามาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะนั้นส้มซ่าเหลืออยู่เพียงต้นเดียว หากไม่มีการนำส้มซ่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจก็จะไม่มีใครอยากปลูกต้นนี้ จึงได้ขอให้ทาง อ.ไฉน มทร.ธัญบุรี เข้ามาช่วยศึกษาวิจัยสกัดจากต้นส้มซ่ามาใช้ทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ จนเกิดเป็นสมุนไพรจากส้มซ่า ส้มซ่าลิปบาล์ม แชมพู-ครีมนวดผมจากส้มซ่า และโลชั่นจากส้มซ่า รวมถึงมีการขยายพันธุ์ส้มซ่าจนตอนนี้มีต้นส้มซ่าในพื้นที่ 400-500 ต้น
“ส้มซ่า” เป็นพืชที่ใช้ได้ทั้งใบ และผล นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย ซึ่งวิสาหกิจชุนชนบ้านส้มซ่าจะรับซื้อทั้งใบ และผล ทำให้ชาวบ้านมองเห็นคุณค่า มองเห็นตลาด และอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาส้มซ่า ศึกษาวิจัยเรื่องนี้
- ยกระดับชุมชุม สร้างอาชีพสร้างรายได้
หลังจากที่ชาวบ้านให้ความสนใจปลูกส้มซ่ามากขึ้น วิสาหกิจชุมชนได้ร่วมกับทีมวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะนำมาเป็นกลิ่นอโรมา นำมาใช้นวดหน้า สปาผิว และทำเป็นอาหาร เครื่องดื่มน้ำส้มซ่า ชาจากส้มซ่า รวมถึงปรับชุมชนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับส้ม.ซ่า ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ ในชุนชน ขณะเดียวกันเมื่อมีงานวิจัยเข้ามารองรับก็สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนในชุมชนมากขึ้น
“ทีมนักวิจัยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการยกระดับ พัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทำความเข้าใจกับผู้นำในชุมชน ชาวบ้าน ทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่า ประโยชน์ของพืชสมุนไพร พืชท้องถิ่น และดึงจุดเด่นของชุมชนออกมา ยิ่งตอนนี้ทำชุมชนบ้านส้มซ่า เป็นชุมชนท่องเที่ยว นวัตวิถีบ้านส้มซ่า ที่ใช้งานวิจัยขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าให้แก่พืชประจำท้องถิ่น และช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่างานวิจัย ทีมวิจัยช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้แก่ชุมชนได้อย่างแท้จริง” ครูเผอิญ เล่า
ทั้งนี้ การจะการยกระดับสมุนไพร พืชท้องถิ่นแต่ละชุมชนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าได้ ต้องมีการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพืชท้องถิ่นไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงควรจะมีการสนับสนุนงบประมาณด้านวิจัยให้มากขึ้น เพื่อจะนำไปขับเคลื่อนยกระดับชุมชนไปพร้อมๆกันอีกทางหนึ่งด้วย
- พืชท้องถิ่นสู่อาชีพ สร้างรายได้
โครงการวิจัยการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของครอบครัว เป็นโครงการย่อยในชุดที่ 3 นวัตกรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรทางสังคมและเศรษฐกิจแบบองค์รวมในพื้นที่ตลาดไทและชุมชนต้นแบบ: เคหะรังสิตคลองหก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 46 นวัตกรรมที่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่ จ.ปทุมธานีเท่านั้น เนื่องจากมีอีกหลายพื้นที่สนใจอยากให้นักวิจัยเข้าไปช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้
“ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงกายกระดับการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เล่าว่าขณะนี้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยประมาณ 60% จะมีการทำงานวิจัยควบคู่การสอน ซึ่งการทำงานวิจัยไม่ใช่ทำในห้องปฎิบัติ หรือเป็นผลงานตามตำรา แต่จะเป็นงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทุกคนต้องลงพื้นที่ชุมชน นำโจทย์ชุมชนมาแก้ปัญหา ดังนั้น ตอนนี้งานวิจัยทั้ง 100% จะเป็นงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม ช่วยแก้ปัญหา เพิ่มมูลค่า ยกระดับพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ
“โครงการทั้ง 46 นวัตกรรม ขณะนี้ได้มีการดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ในกระบวนต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้น และเน้นการสร้างการเรียนรู้ นวัตกรรม สร้างLearning Platform สร้างนักนวัตกรรมในชุมชนให้มากขึ้น เพราะการทำงานวิจัยเพื่อชุมชน ไม่ใช่เพียงให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ คนในชุมชน สร้างอาชีพรายได้ให้แก่คนในชุมชนเท่านั้น แต่อาจารย์ของเราก็ได้เรียนรู้ร่วมกัน ต้องทำงานแบบบูรณาการหลายๆศาสตร์ และต้องเป็นงานวิจัยที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจริงๆ”ผศ.ดร.วารุณี กล่าว
“มทร.ธัญบุรี”มุ่งสร้างงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม สอดคล้องกับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศรวมถึงส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์
ฉะนั้น ทุกงานวิจัยจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชน และสังคม โดยตั้งเป้าไว้ว่า 5 ปี จะเห็นงานวิจัยบูรณาการหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน และเป็นการทำงานวิจัยที่จุดเริ่มต้นมาจากพื้นที่ ชุมชนต่างๆ