เปิดตัวเลขสถานการณ์น้ำปี 2554/2564 เปรียบเทียบความเสี่ยง "น้ำท่วม" กทม.
"อัศวิน" เปิดข้อมูลสถานการณ์น้ำ 5 จุด ระหว่างปี 2554/2564 เปรียบเทียบความเสี่ยงโอกาส "น้ำท่วม" พื้นที่กรุงเทพฯ
วันที่ 30 ก.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. โพสต์เฟซบุ๊ค หัวข้อ "เปรียบเทียบความเสี่ยงน้ำท่วมใน กทม." มีเนื้อหาระบุว่ากทม.ตั้งอยู่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายมารวมกัน ในช่วงหน้าฝนเมื่อเกิดฝนตกสะสมทางตอนบนของประเทศ ปริมาณน้ำที่ไหลมาตามแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น
ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกควบคุมการระบายน้ำโดยเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท หากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีมาก การระบายน้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้น แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ก็เป็นเส้นทางน้ำที่ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.อยุธยา โดยมีเขื่อนพระราม 6 ควบคุมการระบายน้ำ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เขื่อนทั้ง 2 แห่งมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน กทม. หลายคนกังวลจะเกิดน้ำท่วม กทม. เหมือนปี 2554
ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2554 นั้น เกิดจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุที่เข้ามาในประเทศไทยหลายลูก มีปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักสูงกว่าในตอนนี้มากพอสมควร เมื่อเทียบปริมาณน้ำในปีนี้แล้วใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งใน กทม.ก็ไม่มีน้ำท่วมตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา
จากน้ำท่วมปี 2554 กทม.ได้เสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้น เพื่อรองรับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น แต่ยังมีจุดที่อาจจะเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ได้ ที่เป็นชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่ง กทม.ได้วางกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำ และเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว
"กทม.เตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำให้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีสถานีวัดระดับน้ำตลอดแนวแม่น้ำ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง หากเพิ่มสูงขึ้นจนมีความเสี่ยง กทม.จะแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยงทันที"ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดข้อสงสัย "น้ำท่วมใหญ่" กทม. ? เทียบปัจจัยมหาอุทกภัย 54
ผู้สื่อรายงานว่า นอกจากนี้ พล.อ.อัศวิน ได้เผยแพร่ภาพอินโฟกราฟฟิค เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำ 5 จุด ในศักยภาพการรับน้ำ และปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด ระหว่างปี 2554 2563 และ 2564 ประกอบด้วย 1.เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 2.สถานีวัดระดับน้ำ จ.อยุธยา 3.สถานีวัดระดับน้ำ บางเขนใหม่ กทม. 4.สถานีวัดระดับน้ำ ปากคลองตลาด กทม. 5.สถานีวัดระดับน้ำ บางนา กทม.
ทั้งนี้พบว่า ตัวเลขปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสูงสุดของปี 2554 มีมากกว่าในปี 2564 อย่างชัดเจน อาทิ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นเขื่อนที่ควบคุมปริมาณน้ำใน แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสูงสุดในปี 2554 อยู่ที่ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ในปี 2564 มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสูงสุดอยู่ที่ 2,775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ขณะที่สถานีวัดระดับน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสูงสุดในปี 2554 อยู่ที่ 3,860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ในปี 2564 มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสูงสุดอยู่ที่ 2,873 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที