โควิดภาคใต้หากเอาไม่อยู่ อาจถึงขั้นล็อกดาวน์
สธ.ชี้โควิด-19ใต้พุ่ง สวนทิศทางประเทศที่แนวโน้มลดลง อัตราครองเตียงยังไหว 60 % เข้มมาตรการป้องกันควบคุมโรค เร่งอัดวัคซีน คัดกรองเชิงรุกด้วยATK ส่งยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 1 ล้านเม็ด หลังพบอัตราการใช้ต่ำเพียง 30 % ระบุหากเอาไม่อยู่ อาจต้อง “ล็อกดาวน์”
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 ต.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ภาพรวมทิศทางสถานการณ์โควิด-19ของประเทศแนวโน้มลดลง ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลค่อยๆ ลดลงตามลำดับต่ำลงมาเรื่อยๆซึ่งพื้นที่กทม.ค่อนข้างปลอดภัย ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนต่างจังหวัดขณะนี้ทรงตัว มีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นได้ เมื่อแยกออกมาพบในพื้นที่ชายแดนใต้ กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนต่างจังหวัดอื่นสถานการณ์ดีขึ้น อัตราลดลงช้าๆ อยู่ในการควบคุม
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า โควิด-19ในพื้นที่ชายแดนใต้พบ 3 สายพันธุ์ มีเบตา อัลฟา และเดลตา อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยะลา สงขลา ปัตตานี ก็พบว่า ต้องมีมาตรการต่างๆเข้มมากขึ้น อย่างการส่งเสริมร้านอาหาร ร้านค้า หรือการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับ มาตรการโควิดปลอดภัยร (Covid Free Setting) และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) แม้จะไม่ได้บังคับ แต่เป็นการเชิญชวน เช่น การไปร้านอาหาร ร้านค้า หากไม่มีการทำ Covid Free Setting ประชาชนต้องช่วยกันทวงถาม เพื่อให้เกิดการตื่นตัว
รวมถึง ต้องเร่งส่งเสริมให้เกิด Universal Prevention ซึ่งในพื้นที่ยังไม่ค่อยดำเนินการมากนัก ดังนั้น กรมอนามัย ศูนย์อนามัยเขต สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ก็ต้องตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ในช่วงแรกอาจไม่ค่อยรณรงค์มากนัก ซึ่งได้ให้นโยบายไปแล้ว โดยขณะนี้นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในพื้นที่และรับนโยบายดังกล่าวไปแล้ว และจะรายงานข้อมูลขึ้นมา
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญจะต้องมีมาตรการต่างๆ ควบคู่กันเพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ โดยมีทั้งการส่งชุดตรวจ ATK ลงไปเพิ่มเติม ส่งยาฟาวิพิราเวียร์เข้าไป เนื่องจากพบว่ามีการใช้ยาเพียง 30% ทำให้อัตราการเสียชีวิตยังสูง และแนะนำว่าต้องให้ยาใน 4 วันแรกเพราะได้ผลดีมาก ขณะนี้ส่งไปเพิ่มประมาณ 1 ล้านเม็ด และจะติดตามการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติมกับทางผู้ตรวจราชการฯ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะทำให้การติดเชื้อจะชะลอได้ ขณะเดียวกันยังได้ส่งวัคซีนป้องกันโควิดเข้าไปอีกเป็นแสนโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ได้ให้นโยบายไปดำเนินการจัดทำกราฟแบบจำลองในแต่ละจังหวัด รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ แต่ยังไม่ได้รับรายงานกลับมา ซึ่งการทำแบบนี้จะได้ให้มีการควบคุมกำกับ ก็จะคล้ายๆกับการทำแบบจำลองระดับประเทศ ส่วนการให้วัคซีนในพื้นที่ที่เจอโควิด-19ถึง 3 สายพันธุ์นั้น อาจมีปัญหาบ้าง แต่วัคซีนยังใช้เป็นสูตรมาตรฐานอยู่ เพราะยังป้องกันได้ เพียงแต่เบตา อาจป้องกันไม่ค่อยได้มาก การป้องกันน้อยกว่าตัวอื่น แต่ที่เหมือนกันคือ ไม่เจ็บป่วยมาก ไม่ล้มตาย ซึ่งวัคซีนมีประโยชน์
“ภาคใต้ระบบการดูแลรักษายังพอเพียง มีโรงพยาบาลสนาม 1.8-1.9 พันเตียง คนอยู่ประมาณ 50-60% แต่ก็บอกว่าอย่าประมาท อย่าเพิ่งดีใจ เพราะตอนกรุงเทพฯ ที่เปิดรพ.บุษราคัม ตอนนั้นกทม.ติดกว่าพันคนต่อวัน แต่เปิดได้ 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นมาก”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิด-19ในภาคใต้ขณะนี้ถึงขั้นจำเป็นต้องล็อกดาวน์หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายไว้เหมือนกัน หากมาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ อาจต้องใช้มาตรการทางสังคมเข้าไปดำเนินการเพิ่มขึ้น