'วัคซีนล้ง' เกราะป้องกันทุเรียนชายแดนใต้
(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ผลพวงที่ทางการจีนระบุตรวจพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนที่นำเข้ามาจากประเทศไทย ทำให้มีผลกระทบทันทีในแง่ขอความเชื่อมั่น โดยเฉพาะช่วงนี้ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กำลังออกสู่ตลาดพอดี
ผลพวงที่ทางการจีนระบุตรวจพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนที่นำเข้ามาจากประเทศไทย ทำให้มีผลกระทบทันทีในแง่ขอความเชื่อมั่น โดยเฉพาะช่วงนี้ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กำลังออกสู่ตลาดพอดี ทำให้ในระดับพื้นที่ต้องเร่งสร้างเกราะป้องกันจากต้นทางด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับแรงงานล้งทุเรียนทุกคน เพื่อให้ผู้บริโภคปลายทางปลอดภัยที่สุด
บรรยากาศการซื้อขายทุเรียนในพื้นที่ จ.ยะลาซึ่งปลูกทุเรียนมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้รองจาก จ.ชุมพรกำลังคึกคักอย่างมากโดยผลผลิตปีนี้มีประมาณ 57,042 ตัน เก็บเกี่ยวไปแล้ว 33,083 ตันหรือคิดเป็นร้อยละ 58 ยังเหลือผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดอีกราว 23,959 ตัน
สำหรับช่องทางการจำหน่ายทุเรียนของจังหวัดยะลานั้น มีการจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 31.15 ส่งออกร้อยละ 68.84 แยกเป็นจำหน่ายในรูปผลทุเรียนสด ร้อยละ 49.87 และทุเรียนแปรรูปแช่แข็ง ร้อยละ 18.97 ปัจจุบันมีแนวโน้มในการจำหน่ายในรูปแบบทุเรียนแปรรูปแช่แข็งเพิ่มมากขึ้นแต่จากผลพวงที่ทางการจีนได้สุ่มตรวจการนำเข้าทุเรียน และพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนจากการนำเข้าจากประเทศไทยนั้นมีผลกระทบในแง่ของความเชื่อมั่นที่หายไป
ผลพวงดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหรือล้งทุเรียนยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยซึ่งในระดับพื้นที่จ.ยะลาได้หยุดซื้อขายทุเรียนเป็นเวลา 3วัน พร้อมกับมีการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับคนงานในล้ง จำนวน 69 ล้ง หรือประมาณ
640 คนครอบคลุมทั้งจังหวัดยะลา
โดยอำเภอเมืองมีล้งมากที่สุด 41 ล้ง แรงงาน 334 คน รองลงมาอำเภอเบตง 14 ล้ง แรงงาน 238 คนอำเภอธารโต 5 ล้ง แรงงาน 24 คน อำเภอกรงปินัง 3 ล้งแรงงาน17 คนและ อำเภอบันนังสตา 6 ล้งแรงงาน 27 คน
แม้จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นๆแต่ก็ทำให้ราคาซื้อขายตกทันที จากเดิมจำหน่ายกิโลกรัมละ 75 บ.หล่นลงมาเหลือกิโลกรัมละ 55 บ.ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาเกษตรกรก็หวังว่าราคาจะไต่ระดับไปอยู่ในเกณปกติ
โดยตลาดซื้อขายทุเรียนในจังหวัดยะลานั้นถือเป็นตลาดหลักหรือตลาดกลางที่กลุ่มพ่อค้ารายย่อย ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำผลผลิตมาจำหน่ายที่นี่..เพื่อบรรจุหีบห่อก่อนจะมีการลำเลียงไปยัง จ.ชุมพรเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามสำหรับทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน กรกฎาคมและจะสิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนในช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้
สุพิชฌาย์ รัตนะ เนชั่นทีวี ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงาน