โควิดภาคใต้ยังไม่ถึงจุดพีค สธ.เพิ่มเตียงไอซียูรองรับเกือบ 200
โควิดภาคใต้ ยังไม่ถึงจุดพีค สธ.เพิ่มเตียงไอซียู 4 จ.ชายแดนภาคใต้อีกเกือบ 200 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด เฉพาะยะลาเพิ่ม 70 เตียง ยกระดับรพ.สนามดูแลผู้ป่วยสีเหลืองคล้ายรพ.บุษราคัม รพ.อำเภอดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ตั้งเป้าลดยอดติดใหม่ 10%ทุกสัปดาห์ 1 เดือนต้องคุมโรคได้
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้า ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดภาคใต้ ว่า ขณะนี้การระบาดยังอยู่ในขาขึ้น ผู้ติดเชื้อใหม่ของ 4 จังหวัดได้แก่ ยะลา สงขลา นราธิวาสและปัตตานี อยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) แต่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.8% ซึ่งยังน้อยกว่าภาพรวมประเทศที่ 1% ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เวลา 2 เดือนเพื่อคุมระบาด แต่เราจะพยายามทำให้ได้ใน 1 เดือน ซึ่งเป้าหมายการลดอัตราติดเชื้อสัปดาห์ละ 10% สัปดาห์นี้ยังทำได้ไม่ถึงเป้า เพราะการระบาดยังอยู่ในขาขึ้น ติดเชื้อทรงตัวที่ 2 พันรายต่อวัน ยังไม่มีตัวเลขลดลง จึงยังไม่เห็นจุดพีค จากการประเมินมาตรการควบคุม เช่น 1.มาตรการสังคมต้องเข้มข้นขึ้นกว่านี้ ตอนนี้เราใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เป้าหมาย (Target Lockdown) คือ ปิดเป็นตำบล หมู่บ้าน หรือพื้นที่ระบาด ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกัน เพราะก็ไม่อยากใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งพื้นที่(Total Lockdown)
2.ขอความร่วมมือพฤติกรรมส่วนบุคคลให้เข้มงวดตามมาตรการป้องกันตัวเองสูงสุด(Universal Prevention) 3.เข้มมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง(COVID19 Free setting) เพราะหลังคลายล็อกแล้ว ตลาด ร้านอาหารเริ่มเปิด ในชุมชนก็จัดงานศพ งานเลี้ยงเกษียณ ก็จะไปรวมกับเชื้อที่มีในชุมชนอยู่แล้ว ก็จะแพร่ไปทั่วเหมือนที่เกิดใน กทม. ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 4.ภาพรวมฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ละจังหวัดยังได้น้อย ราว 36-40% เราก็จะรณรงค์เป็นสัปดาห์ฉีด “วัคซีนสกัดไวรัสโควิด-19” ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรค ก็จะเร่งส่งวัคซีนไฟเซอร์ลงพื้นที่ เพื่อฉีดให้ประชาชนเพิ่มเติมจากกลุ่มเด็กนักเรียน สัปดาห์นี้ 5 แสนโดสเร่งฉีดเป็นเข็ม 1 ให้เร็วที่สุด โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยในปลายสัปดาห์นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารสธ.จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบาด
นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า ด้านความพร้อมของเวชภัณฑ์และเตียง เขตสุขภาพที่ 12 เพิ่มเตียงไอซียูจาก 200 เป็น 360 เตียง เฉพาะยะลาก็เพิ่ม 70 เตียงที่สามารถใช้ท่อช่วยหายใจได้ ยกระดับโรงพยาบาลอำเภอให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้ ใช้เครื่องไฮโฟล์วได้ ส่วนกลุ่มสีเขียว รพ.สนามเริ่มเต็ม เราก็ประสานไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัด ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ให้ลงมาช่วยดูเรื่องศูนย์พักคอยในตำบล(Community Isolation) ในทุกตำบล รองรับ 30-40 ราย เพราะใช้การตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ผลออกไว แต่เพื่อยืนยันผู้ป่วยไม่ให้ประปนกัน ก่อนจะเข้า รพ. ต้องตรวจ RT-PCR ก่อน นั่นต้องรอผลอีก 1 วัน ระหว่างนั้น เราต้องมีพื้นที่รองรับทันที ป้องกันการกลับติดเชื้อในบ้าน ขณะเดียวกัน การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ทางกรมการแพทย์ โดย รพ.ราชวิถี ก็จะสนับสนุนแพทย์ เพื่อเทเลเมด(Telemedicine) กับผู้ป่วยที่บบ้าน และแพทยย์ในอำเภอ ก็จะดูแลผู้ป่วยที่หน้างาน ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอแน่นอน สามารถจ่ายยาได้ทันที
“ตอนนี้เตียงตึงๆ แน่นๆ แต่ยังรับไหวอยู่ ยังไม่มีคนติดค้าง อัตราเสียชีวิตยังไม่เพิ่มมาก ส่วนอุปกรณ์ ยาต่างๆ ก็เพียงพอ เราจ่ายยาเพิ่มขึ้น 50% ในกลุ่มเปราะบาง คนมีโรคประจำตัว แม้ไม่มีอาการ ก็จ่ายยาแล้ว เฉลี่ย 8-9 หมื่นเม็ดต่อวัน แต่เพียงพอแน่นอน ทาง สธ. ก็สนับสนุนเครื่องออกซิเจนมาเพิ่มเติม เพราะต้องยกระดับ รพ.สนาม ให้รองรับการใช้เครื่องมือในกลุ่มสีเหลืองด้วย ซึ่งจะคล้ายกับ รพ.บุษราคัม ” นพ.สุเทพ กล่าว
เมื่อถามว่าหากต้องล็อกดาวน์จะต้องครอบคลุมพื้นที่อย่างไร นพ.สุเทพ กล่าวว่า ยังอยากขอความร่วมมือประชาชนอยู่ เพราะแม้จะล็อกดาวน์ แต่คนก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่ การติดเชื้อก็แพร่กระจายไปทั่วแล้ว ดังนั้นการจำกัดการเดินทางก็ช่วยได้ไม่เยอะ แต่ยังจำเป็นในชุมชนที่ระบาดหนักมาก ตนจึงมองว่ายังไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์ทั้งจังหวัด ส่วนเคอร์ฟิวก็ยังพอช่วยได้อยู่ รวมถึงมาตรการลดการรวมกลุ่ม และเข้มงวดมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้งให้มากขึ้น ฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น