พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว พ.ย. - ธ.ค. นี้ "ฉีดวัคซีนโควิด" ไปแล้วเท่าไหร่

พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว พ.ย. - ธ.ค. นี้ "ฉีดวัคซีนโควิด" ไปแล้วเท่าไหร่

1 พ.ย. นี้ นอกจากจะเป็นวัน "เปิดประเทศ" เพื่อรับนักท่องเที่ยวประเทศเสี่ยงต่ำ โดยไม่กักตัว ตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว ยังมีการเตรียมเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเพิ่มอีก 15 จังหวัด และ ในเดือน ธ.ค. อีก 16 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัด ต้อง "ฉีดวัคซีนโควิด" ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 50

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ กับเป้าหมาย เปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 โดยเบื้องต้น ศบค. กำหนดประเทศความเสี่ยงต่ำเดินทางมาไทยไม่ต้องกักตัวตามเงื่อนไขที่กำหนด 5 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ และจีน รวมถึง เตรียมเปิดอีก 15 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะ 1 โดยเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและระบบสาธารณสุขรองรับ
 

โดย ศบค. ได้ตั้งเป้าหมายของการฉีด ในเดือน ต.ค. ต้องครอบคลุมประชากรทั้งหมด (ชาวไทย ต่างชาติ) อย่างน้อย ร้อยละ 50 ของระดับจังหวัด และอย่างน้อยร้อยละ 70 ในพื้นที่ (COVID Free Area) ที่จะเปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติมา เชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยว สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มความครอบคลุม กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ  60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ จะต้องได้ร้อยละ 80 

 

  • พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ระยะ 1 พ.ย.นี้
     

สำหรับ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว "ระยะที่ 1" (1 - 30 พ.ย. 64) มีจำนวน 15 จังหวัด ได้แก่  กทม. สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด เพิ่มเติมจากที่เปิด "ระยะนำร่อง" (1-31 ต.ค. 64) ไปก่อนหน้านี้ 4 จังหวัด ได้แก่  ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า)  พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) ดังนั้น รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด

  • พื้นที่นำร่องฯ ระยะ 1 ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่
     

เมื่อดู อัตราการฉีด "วัคซีนโควิด-19" 15 จังหวัด ที่จะเปิดเพิ่มเติม 1 พ.ย. นี้ (ข้อมูล ณ 15 ต.ค. 64) จากระบบ "หมอพร้อม" พบว่า

 

กทม. 1,368,128 โดส 101.17%

สมุทรปราการ 2,364,470 โดส 75.62%

กระบี่ 400,768 โดส 49.56%

พังงา 325,127 โดส 65.34%

ประจวบคีรีขันธ์ 536,541 โดส 52.70%

เพชรบุรี 499,496 โดส 59.99%

ชลบุรี 2,701,295 โดส 65.20%

ระนอง 258,780 โดส 64.50%

เชียงใหม่ 1,450,229 โดส 44.50%

เลย 417,943 โดส 41.37%

บุรีรัมย์ 1,451,340 โดส 59.35%

หนองคาย 360,118 โดส 45.42%

อุดรธานี 1,030,866 โดส 44.00%

ระยอง 894,372 โดส 61.17%

ตราด 204,660 โดส 52.68%

 

  • พื้นที่นำร่องระยะ 2 เปิด ธ.ค. นี้  
     

ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไปในช่วงธันวาคม ยังคงมีการเดินหน้าเตรียมความพร้อมในการเปิดจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะ 2 เพิ่มอีก 16 จังหวัด ในวันที่ 1 – 31 ธ.ค. 64 หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปะวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และ นราธิวาส 

 

  • อัตรา "ฉีดวัคซีนโควิด" พื้นที่นำร่อง ฯ ระยะ 2 

 

เมื่อดูอัตราการฉีดวัคซีนสะสมใน 16 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว “ระยะที่ 2” ข้อมูล 15 ต.ค. มีอัตราการฉีด ดังนี้

 

เชียงราย  817,211 โดส 40.44%

แม่ฮ่องสอน 122,391 โดส 27.96%

ลำพูน 327,184 โดส 48.49%

แพร่ 284,541 โดส  43.07%

สุโขทัย 390,288 โดส 46.62%

เพชรบูรณ์ 621,024 โดส 41.52%

ปทุมธานี 1,870,518 โดส  77.70%

อยุธยา 940,237 โดส 60.22%

ขอนแก่น 1,226,205 โดส 42.69%

นครราชสีมา 2,139,242 โดส 49.44%

นครศรีธรรมราช 976,464 โดส 39.02%

ตรัง 542,533 โดส 48.99%

พัทลุง 345,298 โดส 42.14%

สงขลา 1,231,523 โดส 47.75%

ยะลา 457,943 โดส 49.51%

นราธิวาส 509,687 โดส 39.35%

 

  • ส่งสูตรวัคซีนไขว้ แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์  พื้นที่นำร่อง ระยะ 2

 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.)  กล่าวภายหลังจากการประชุม ศบค. ในประเด็นแผนการจัดสรรวัคซีนจำนวน 25 ล้านโดส แยกตามกลุ่มเป้าหมายเดือน พ.ย. 64  โดยประชาชนใน 16 จังหวัด ที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน "ระยะที่ 2" (1 - 31 ธ.ค. 64) จะได้รับวัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 20 หรือ จำนวน 5 ล้านโดส โดยสูตรวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ ได้แก่ ซิโนแวค – แอสตร้าเซนเนก้า และ แอสตร้าเซนเนก้า – ไฟเซอร์

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่เป้าหมายการฉีดในเดือน พ.ย. อีก ดังนี้  “ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน 50 จังหวัด” วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 40 จำนวน 10 ล้านโดส สูตรวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ ซิโนแวค – แอสตร้าเซนเนก้า และ แอสตร้าเซนเนก้า – ไฟเซอร์ 


“ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน พื้นที่ระบาด” วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 12 จำนวน 3 ล้านโดส สูตรวัคซีน ไฟเซอร์ -ไฟเซอร์  

 

“กลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 12 - 17 ปี ทั่วประเทศ” วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 12 จำนวน 3 ล้านโดส สูตรวัคซีน ไฟเซอร์ - ไฟเซอร์

 

“แรงงานในระบบประกันสังคม” วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 6 จำนวน 1.5 ล้านโดส สูตรวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า – ไฟเซอร์ และ ซิโนแวค  - แอสตร้าเซนเนก้า

 

“หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์”  วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 2 จำนวน 0.5 ล้านโดส สูตรวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า -ไฟเซอร์ และ ซิโนแวค  - แอสตร้าเซนเนก้า และ “ประชากรต่างด้าว” วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 8 จำนวน 2 ล้านโดส สูตรวัคซีน ซิโนแวค - แอสตร้าเซนเนก้า

 

  • เปิดประเทศ ติดเชื้อ แต่อัตราป่วยตายต้องน้อย

 

“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเปิดประเทศได้มีการเตรียมเรื่องสถานที่ คนที่เดินทางเข้ามาต้องฉีดวัคซีนครบโดส มีเอกสารรับรองการเดินทาง และคนในประเทศต้องฉีดวัคซีน ซึ่งสิ้น ต.ค.นี้จะฉีดวัคซีนเข็ม 1 ได้ครอบคลุมราว 50 % และเข็ม 2 น่าจะใกล้ 40%  และการฉีดในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ก็จะเกินเป้าที่วางไว้ จะทำให้สถานการณ์คนที่ติดเชื้อ การเสียชีวิตน้อยลง

 

“เมื่อเปิดประเทศไทยให้คนเข้ามามากขึ้น ก็ต้องมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น  แต่สิ่งที่สามารถทำและมั่นใจได้ คือ คนที่มีอาการหนัก ที่ต้องป่วย ต้องเสียชีวิตให้มีน้อยที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประชาชนเป็นไปได้อย่างปกติที่สุด แต่ผู้ที่เข้ามาไม่ได้แปลว่าปล่อยอิสระเสรี แต่ยังมีระบบเฝ้าระวังของจังหวัด เมื่อไหร่มีกรณีผู้ติดเชื้อเข้ามา ก็ต้องมีการสอบสวนเพื่อหาการเชื่อมโยงว่าไปตรงไหน ซึ่งคลัสเตอร์ใหญ่ไม่ค่อยมี ก็จะตรวจจับคลัสเตอร์เล็กๆ เกิดขึ้นได้ สามารถควบคุมให้อยู่ในสถานการณ์ได้ สามารถเปิดประเทศและดำเนินการกิจกรรมได้ตามปกติ”นพ.โอภาสกล่าว


ขณะ ที่ "นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ" รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chalermchai Boonyaleepun โดยระบุถึง แผนเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยให้นักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ถ้าได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม และได้ตรวจ PCR ที่ประเทศต้นทางและเมื่อเข้าประเทศไทยเป็นลบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็จะส่งผลดี ทำให้มิติเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคงจะต้องติดตามผลกระทบของการประกาศมาตรการดังกล่าวต่อไป

 

  • ที่ไหน เตรียมเปิดประเทศอีกบ้าง 

 

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีเป้าหมายในการเปิดประเทศ จากรายงานของ “เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น” เผยว่า  นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบของ “มาเลเซีย” แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (10 ต.ค.) ตั้งแต่วันจันทร์ (11 ต.ค.) มาเลเซียจะยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศสำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หลังจากทางการฉีดวัคซีนได้ทะลุเป้า 90% ของประชากรวัยผู้ใหญ่

 

ขณะที่ “สิงคโปร์” เพิ่ม 8 ประเทศเข้าในกลุ่มเดินทางไม่ต้องกักตัว (วีทีแอล) ถือเป็นการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สิงคโปร์ปิดพรมแดนในเดือน มี.ค.2563 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ต่างต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว และการดำเนินธุรกิจในประเทศ สิงคโปร์และมาเลเซีย ใช้วิธีฉีดวัคซีน แทนการควบคุมการใช้ชีวิตประชาชน แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง 

 

ด้าน รัฐบาล "เวียดนาม" แถลงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า มีแผนเปิดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้กับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศเสี่ยงโควิดต่ำตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ ก่อนจะเปิดเต็มตัวตั้งเป้าไว้ในเดือน มิ.ย.2565

 

“อินโดนีเซีย” เปิดสถานที่สาธารณะแล้ว อนุญาตให้โรงงานกลับมาปฏิบัติการได้เต็มรูปแบบอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ เช่น จีน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเที่ยวเกาะบาหลีได้ภายในวันที่ 14 ต.ค. แต่นักเดินทางต้องกักตัว 8 วันเสียค่าใช้จ่ายเอง

 

ขณะที่ “ซิดนีย์ ออสเตรเลีย” 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดที่ใช้สกัดสายพันธุ์เดลตามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ขณะนี้ชาวซิดนีย์ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว คิดเป็นราว 70% ของประชากรผู้ใหญ่สามารถเข้าร้านอาหาร บาร์ และยิมได้อีกครั้ง สมาชิกครอบครัวมาเจอกันได้แล้วหลังจากที่่ไปมาหาสู่กันไม่ได้มานานหลายเดือน

 

นอกจากนี้ ตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร และหลายพื้นที่ในสหรัฐ ได้นำแนวทาง “ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด” มาใช้ ซึ่งชีวิตผู้คนส่วนใหญ่กลับมาเป็นปกติ