สธ.ปรับเกณฑ์ใหม่! ประกันสุขภาพสูงวัยต่างชาติอยู่ไทย 1 ปี
สธ.ปรับเกณฑ์ใหม่ประกันสุขภาพต่าวชาติสูงวัยอยู่ไทย 1 ปี เพิ่มวงเงินจาก 4 แสนบาทเป็น 3 ล้านบาท ครอบคลุมรักษาโควิด-19 เผยเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อนำเงินมาใช้ในไทย เดือน30,000-70,000 บาท ยอดเข้าพักในไทยมากขึ้นต่อเนื่องชะงักปี63-64 ช่วง 2 ปีเข้ามาเกือบ 4,000 ราย
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 19 ต.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 และนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมแถลงข่าว “การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี)”
นายสาธิต กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก (Medical Hub) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมามีผู้สูงอายุขอรับการตรวจลงตราเข้ามาพำนักระยะยาว (Long Stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติอนุมัติในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ โดยกำหนดให้ชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1ปี)สามารถซื้อประกันสุขภาพจากต่างประเทศ
หรือมีสวัสดิการภาครัฐจากต่างประเทศได้ และปรับวงเงินประกันสุขภาพจากเดิมผู้ป่วยนอก 40,000 บาท ผู้ป่วยใน 400,000 บาท เปลี่ยนเป็นมีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 3,000,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค.2564 เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับชาวต่างด้าวที่จะเข้ามาให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว ระยะเวลา 1 ปี จะใช้สำหรับชาวต่างด้าวผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถซื้อประกันในประเทศไทยได้, ผู้ที่แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย/สิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆ และ ผู้ที่ยื่นต่ออายุ วีซ่าครั้งที่สอง (Extend) ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ จะช่วยลดปัญหาของผู้ขอรับการตรวจลงตราที่ไม่สามารถยื่นต่อวีซ่าครั้งที่สองได้ รวมทั้งเป็นการยกระดับและคัดกรองชาวต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยสามารถซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย https://longstay.tgia.org มีบริษัทประกันภาคที่เข้าร่วมโครงการ 17 แห่ง
“ที่ผ่านมาพบว่าเกิดปัญหาในการดำเนินการของผู้รับการตรวจลงตราในการซื้อประกันสุขภาพ คือ 1.ชาวต่างชาติอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถซื้อประกันในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการขออยู่ต่อ
2.แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย/สิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆและ
3.ผู้ที่ยื่นต่ออายุวีซ่าครั้งที่ 2 ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ ซึ่งการออกเกณฑ์ใหม่จะเป็นการยกระดับและคัดกรองต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย”นพ.ธเรศกล่าว
ทั้งนี้ สถิติชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1ปี) ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการกงสุลตั้งแต่ปี 2560-2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นปีที่ผานมาที่เกิดปัญหาโรคโควิด-19 โดยปี 2560 จำนวน 2,891 ราย ปี 2561 จำนวน 3,164 ราย ปี 2562 จำนวน 4,222 ราย ปี 2563 จำนวน 2,321 ราย และม.ค.-ก.ย.2564 จำนวน 1,447 ราย รวมช่วง 2 ปีหลังอยู่ที่ 3,768 ราย
ด้านนายดนย์วิศว์ กล่าวว่า กรมได้ดำเนินการปรับแนวปฏิบัติรองรับการตรวจลงตราประเภทนี้และแจ้งเวียนให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศถือปฏิบัติแล้ว อีกทั้ง ยังปรับปรุงหลักฐานแสดงการทำประกะนภัยจากต่างประเทศให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่มากขึ้น ซึ่งวีซ่ารหัสO-A เป็นการรองรับกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยเกณฑ์ใหม่จะใช้ทั้งผู้ที่ขอวีซ่าประเภทนี้ครั้งที่ 1 และการขออยู่ต่อ
น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการทำประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และทำให้กระบวนการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สะดวกมากขึ้น รวมทั้ง ครอบคลุมกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและโรคโควิด-19 จะเป็นการสร้างคววามเชื่อมั่นแห่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาพำนักหรือท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัว หากเป็นชาวเอเชียจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อวัน และยิ่งอยู่นานจะใช้จ่ายมากขึ้น
อนึ่ง ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ กำหนดให้ต้องมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 65,000 บาท หรือมีเงินฝากไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท หรือมีเงินเดือนในรอบปีและเงินฝากในธนาคารรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท ซึ่งโครงสร้างค่าใช้จ่าย แยกเป็น ค่าเช่าที่พัก ราว 10,000-20,000 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือยราว 30,000-40,000 บาท แต่หากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีศักยภาพสูงมาก มีค่าใช้จ่ายเดือนละราว 60,000 -70,000 บาท