เปิดไทม์ไลน์ ไทยได้ใช้ “แพกซ์โลวิด” รักษาโควิด-19ตัวใหม่
กรมการแพทย์ เผยความเหมือน-ต่างยารักษาโควิด 3 ตัว ฟาร์วิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด ย้ำใช้ในคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง พร้อมเปิดไทม์ไลน์ยาตัวใหม่เข้าประเทศไทย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 พ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น : ยารักษาโควิด 19 โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และ ยาแพกซ์โลวิด (PAXLOVID) นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาทั้ง 2 ตัวเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน เพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อไวรัสเข้าร่างกายจับกับตัวรับในร่างกาย เข้ามาในร่างกายและพยายามเพิ่มจำนวนมากขึ้น ด้วยการจำลองตัวเอง โดยกระบวนนี้จะต้องใช้เอนไซม์ในการช่วยให้ไวรัสมีโปรตีนออกมามากขึ้น แล้วไวรัสก็ถ่ายทอดรหัสพันธุกรรม ไปสู่การถ่ายทอดสู่ดีเอ็นเอ และมีไวรัสจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ กลไกในการยับยั้งการทำงานไวรัสของไวรัส เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น วัคซีน ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ก็จะมาช่วยในเรื่องของการ
“เอนไซม์ที่ช่วยในการเพิ่มจำนวนของไวรัสวคือเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งยาแพกซ์โลวิดจะไปยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้ไม่ให้ทำงานได้ดี ไวรัสก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนโปรตีนได้ อย่างไรก็ตาม ยาแพกซ์โลวิดที่มีผลงานวิจัยออกมาจะต้องใช้คู่กับยาริโทนาเวียร์ ขณะเดียวกันกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัสหากผ่านขั้นตอนนี้มาได้ มีจำนวนโปรตีนมากขึ้น มีการจำลองตัวเองให้มากขึ้นเปลี่ยนจากRNA เป็น DNA ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์จะมาช่วยยับยั้งตรงนี้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ายา 2 ตัวนี้ ออกฤทธิ์ละที่ แต่ผลสุดท้ายเหมือนกันคือการยับยั้งไวรัส”นพ.อรรถสิทธิ์กล่าว
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ ข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น จำนวน 775 คน ให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน โดยยาโมลนูพิราเวียร์รับประทานมื้อละ 4 เม็ด วันละ 2 มื้อเช้า-เย็นเป็นเวลา 5 วัน ต่อคนจะใช้ยาจำนวน 40 เม็ดในการรักษา ผลเบื้องต้นพบว่า ลดความเสี่ยงการนอนรพ./เสียชีวิตภายใน 29 วัน ได้ประมาณ 50 % โดยไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์
ส่วนยาแพกซ์โลวิด จะต้องใช้คู่กับยาริโทนาเวียร์ ข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น จำนวน 774 คน กลุ่มให้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวียร์ 389 คน และยาหลอก 385 คน โดยรับประทาน 2 เม็ดต่อมื้อร่วมกับยาริโทนาเวียร์ 1 เม็ด รับประทานร่วมกันวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ดังนั้น ต้1คนต้องรับประทานยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ด รวม 30 เม็ดต่อคนต่อครั้งการรักษา พบว่า ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล/เสียชีวติภายใน 28 วัน ประมาณ 89%กรณีให้ยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ประมาณ 85 % กรณีให้ยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับริโทนาเวียร์
“จะเห็นว่ายา 2 ตัวมีประสิทธิผลในการช่วยไม่ให้ความรุนแรงถึงเข้านอนรพ.ได้ทั้ง 2 ชนิด ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาทั้งแพกซ์โลวิดคู่กับริโทนาเวียร์ และผู้ที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์ ใช้กรณีไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย ส่วนยาแพกซ์โลวิดใช้เฉพาะโรคโควิด-19 และทั้ง 2 ตัวสามารถใช้ได้กับไวรัสก่อโรคโควิด-19ทุกสายพันธุ์ กรณีราคานั้นยังพูดยาก เพราะยาตัวใหม่ยังไม่ทราบว่าจะมีราคาเท่าไหร่สำหรับยาแพกซ์โลวิด ส่วนโมลนูพิราเวียร์นั้นการขายในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะมีความแตกต่างกันได้”นพ.อรรถสิทธิ์กล่าว
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ไทม์ไลน์การนำยาแพกซ์โลวิดเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น กรมการแพทย์ได้มีการหารือกับบริษัทไฟเซอร์ เกี่ยวกับข้อมูลยาและการวิจัยตั้งแต่เดือนส.ค.2564 ตอนนั้นผลวิจัยยายังไม่ออก หลังคุยข้อมูลเบื้องต้น และมีการลงนามรีกษาความลับไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ต่อมาเดือนต.ค.มีการหารือเป็นรอบที่ 2 เกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการวิจัย และณ ปัจจุบันผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นออกมาแล้ว จะมีการหารือร่วมกันรอบที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ย. นี้ เกี่ยวกับความเป็นไปได้กับการจัดหายามาใช้ ประมาณการว่าบริษัทไฟเซอร์น่าจะยื่นขออนุญาตกับFDAอเมริกา ในเร็วๆนี้ หลังจากนั้นจะมีความก้าวหน้าในการจัดหาายาแพกซ์โควิดเพิ่มขึ้น จะนำข้อมูลมาแจ้งต่อไป ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้น FDAอเมริกากำลังพิจารณา คาดว่าหากผ่านการขึ้นทะเบียนเรียบร้อย น่าจะมีการนำยาเข้ามาในประเทศไทยราวช่วง ธ.ค.2564-ต้นปี 2565 และคาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 พ.ย. นี้จะมีการเสนออนุมัติงบการจัดซื้อยาโมนูลพิราเวียร์
นพ.อรรภสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ยา 2 ตัว จะใช้ได้ดีในคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง อาทิ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน อ้วน เป็นต้น ในผลการศึกษา ยังไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ส่วนข้อห้ามใช้นั้นเหมือนกับยาทั่วๆ ไป คือยังไม่แนะนำในคนที่มีความผิดปกติของตับรุนแรง ไตรุนแรง เอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เนื่องจากยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มนี้ เบื้องต้นคาดประมาณการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องใช้จำนวนเท่าไหร่นั้น เบื้องต้นต้องมีการคำนวนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เช่น 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงต้องใช้ยานี้ ประมาณ 10 % หรือ 1,000 คนต่อวัน
เมื่อถามว่ายา 2 ตัวนี้มีความแตกต่างจากยายาฟาร์วิพิราเวียร์ที่ประเทศไทยใช้รักษาผู้ติดโควิด-19อยู่ตอนนี้อย่างไร นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์เป็นการศึกษาในผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ แต่ยาฟาร์วิพิราเวียร์เป็นยาที่ใช้รักษาไวรัสตัวอื่นมาก่อน เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19จึงนำมาใช้รักษาผู้ปวยโควิด-19และได้ผล