“รถตกน้ำ” ..ปัญหา “ถนน” หรือคนขับ แก้ให้ถูกจุด ต้องทำอย่างไร
กรณี"ขับรถตกน้ำนครสวรรค์" เสียชีวิต เป็นความผิดของคนขับหรือ"ถนนไม่ปลอดภัย" ถ้าจะแก้ปัญหาอุบัติเหตุให้ถูกจุด ต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 กรณีชายหนุ่มขับรถยนต์พุ่งตกลงแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ จนเสียชีวิต เนื่องจากขับมาตามถนนนำทางไปสู่ช่องทางลงแม่น้ำบริเวณหัวโค้งช่วงทางลอดใต้สะพานเลี่ยงเมืองที่เปิดเอาไว้ จนทำให้เกิด อุบัติเหตุ ดังกล่าว
ล่าสุด รุ่งโรจน์ สถิตย์ รักษาการผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 ได้สั่งให้นำป้ายเตือนและ แบริเออร์ พลาสติกมาปิดช่องทางไว้เป็นการชั่วคราว และกล่าวว่า จุดสะพานกลับรถตรงนี้มีช่องทางจราจร 2 ช่องทาง มีการตีเส้นแบ่งช่องทางอย่างชัดเจน และมีไฟฟ้าส่องสว่างครบถ้วนตามแบบก่อสร้าง
ส่วนช่องที่เว้นไว้เป็นทางลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแบบแปลนก่อสร้างประมาณ 4 เมตรเศษๆ เพื่อให้รถบรรทุกน้ำมาจอดเติมน้ำนำไปช่วยบรรเทาสาธารณภัยในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงเป็นช่องทางลงเรือของประมงพื้นบ้าน และเป็นจุดซ่อมแซมบำรุงรักษาไฟฟ้าของการไฟฟ้า
ซึ่งเปิดไว้ตั้งแต่ช่วงซ่อมปรับปรุงทางเลี่ยงเมือง ไม่เคยมีอุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน และยืนยันว่าไฟส่องสว่างติดหมดทุกดวง ความเห็นส่วนตัวคิดว่า เกิดจากความไม่คุ้นชินเส้นทาง มากกว่า
สถานที่เกิดเหตุ
ทางด้าน ปัญญา แสนสุข รอง ผอ.แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 (ฝ่ายปฏิบัติการ) กล่าวว่า ในช่วงออกแบบแปลนเส้นทางตรงนี้ เดิมออกแบบให้มีแบริเออร์ปิดช่องทางเอาไว้ทั้งหมด แต่ อบต. มาขอให้เปิดช่องทางนี้ไว้เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งได้ทำประชาพิจารณ์แล้ว เห็นด้วย จึงเปิดมานานกว่า 4 ปีแล้ว
ลักษณะกายภาพของถนน
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกแบบและโครงสร้างของถนน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้ผู้ขับขี่เข้าใจผิดได้ว่า มันเป็นถนน สามารถเข้าไปได้
“เคสนี้ เป็นถนนที่เป็นจุดยูเทิร์นกลับรถใต้สะพาน ปกติจะไม่มีการเปิดแบริเออร์ หรือ เปิดช่องเอาไว้ในลักษณะนั้น จะต้องมีแบริเออร์หรือเกาะคอนกรีตต่อเนื่องยาวมา เพื่อให้ผู้ใช้ทางหรือคนขับรถรู้ว่าเป็นแนวถนน บังเอิญเคสนี้ ไปเปิดช่องตรงนั้น ทำให้ผู้ขับขี่เข้าใจผิด
ไม่แน่ใจว่า แรกเริ่มออกแบบไว้อย่างไร เพราะไม่เห็นแบบ แต่ในปัจจุบันสภาพเป็นแบบนี้ มันไม่ปลอดภัย แล้วที่บอกว่า เพราะเขาไม่คุ้นชินเส้นทาง จริงๆ แล้วคำนี้ไม่น่าใช้ เพราะว่า
การออกแบบถนน ต้องออกแบบให้ปลอดภัย ให้สามารถใช้ได้กับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยใช้ทางหรือไม่เคยใช้ทาง ต้องทำให้ปลอดภัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เคยใช้ทาง หรือไม่ใช่คนที่อยู่แถวนั้น ถนนควรสื่อสารกับคนให้ชัดเจน"
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์
โครงสร้างถนนมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้ รศ.ดร.กัณวีร์ ขยายความว่า โครงสร้างมีผลมาก เวลาเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุหลักมาจากคนขับ แต่เมื่อดูองค์ประกอบร่วม ถนนก็มีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ
"กรณีนี้ ถ้าถนนไม่ทำให้เขาเข้าใจผิด ก็คงไม่เกิดเหตุลักษณะนี้ สภาพแวดล้อมและถนน มีผลต่อพฤติกรรมการขับขี่ ถนนต้องสามารถชี้นำทางให้ขับอย่างปลอดภัย กรณีนี้ถนนชี้นำทางให้คนขับไปสู่อันตราย"
ถ้าเป็นภูมิประเทศที่เสี่ยงอันตราย การสร้างถนนที่ดีสามารถช่วยได้อย่างไร
รศ.ดร. กัณวีร์ ย้ำว่า การออกแบบถนน ต้องสามารถนำทางคนได้อย่างปลอดภัย ถ้าสุดวิสัยจริงๆ เกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
"สมมติว่า เคสนี้เกิดตอนกลางคืน เพราะมองทางไม่เห็น แต่ถ้าไม่มีการเปิดช่องโหว่เอาไว้ ถ้าเขาเสียหลักหลุดออกไป ก็อาจชนกับแบริเออร์ไม่เป็นอะไรมาก แต่กรณีนี้ แบริเออร์ถูกเปิดออก ทำให้คนขับเข้าใจผิด จนเกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนสาเหตุมาจากคน ทุกคนจะโทษคนขับ ถ้ามองแบบองค์รวม พฤติกรรมของคนขับถูกบังคับ (Force )ด้วยสภาพถนน และถูกควบคุม (Control)ด้วยสภาพทางกายภาพ ดังนั้นถ้าถนนไม่ปลอดภัย คนขับก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยได้
ยกตัวอย่าง สี่แยกวัดใจ ที่ไม่มีสัญญาณจราจร รถวิ่งสองทางแล้วชนกันกลางสี่แยก เกิดอุบัติเหตุ ก็โทษคนขับว่าขับเร็ว ไม่มองทาง
แต่ถ้าออกแบบสี่แยกเปลี่ยนเป็นวงเวียน ลักษณะวงเวียนจะบีบพฤติกรรมคนให้ชะลอรถก่อนเข้าแยก หรือถ้าชนก็ชนกันด้านข้าง ชนกันไม่แรง ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน เราสร้างถนน 8 เลน 10 เลน ยิ่งส่งเสริมให้คนใช้ความเร็วมากขึ้น ถนนจึงมีส่วนควบคุมพฤติกรรมคน"
ถนนที่นำไปสู่แม่น้ำ สถานที่เกิดเหตุ
แนวทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุ
ในฐานะคนทำงานวิจัยเรื่องอุบัติเหตุในหลายๆ กรณี รศ.ดร. กัณวีร์ เสนอแนะว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้เกี่ยวข้องไม่ควรโทษคนขับว่า ไม่ชินทาง ยังมีปัจจัยที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบโครงสร้างถนน
"ถ้าเราโทษคนขับ ระบบอื่นๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทุกคนก็จะคิดว่า ถนนดีอยู่แล้ว เป็นเพราะคน เราไม่ควรมองแบบนี้ จะทำยังไงให้คนปลอดภัย คนขับขี่ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น
เราต้องสร้างระบบสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับความผิดพลาดของผู้ขับขี่ เพราะทุกคนมีความเสี่ยง และการแก้ที่คน มันแก้ยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ควรทำระบบถนนให้คนขับปลอดภัยก่อน
ประเทศที่เจริญแล้ว เขาใช้ถนนควบคุมพฤติกรรมคน ถ้าให้คนๆ เดียวกันขับรถในต่างประเทศที่ถนนออกแบบมาดี ก็จะไม่เจอความเสี่ยง แต่พอมาขับในไทย เจออุบัติเหตุ ไม่ได้เป็นเพราะคนแล้ว เป็นที่โครงสร้างและระบบถนนของประเทศเราไม่ปลอดภัย"
ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ รศ.ดร.กัณวีร์ มีคำแนะนำว่า
"ต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ มีหลายจุดที่มีลักษณะนี้ แต่มันยังไม่เกิดเหตุ ก็เลยไม่มีใครลงไปดูแลและแก้ไข ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเชิงรุก เห็นความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุ ยอมรับว่าถนนต้องปรับปรุง
ต้องเปลี่ยน Mindset (กรอบความคิด) คนทำงานออกแบบถนนก่อน หลังจากนั้นลงไปตรวจสอบความปลอดภัยในท้องถนนแต่ละแห่ง ถ้าเจอสิ่งที่น่าจะเป็นความเสี่ยงก็ควรแก้ไขทันที ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุ"
ปกติแล้วจะมีคนทำงานทางวิศวกรรมลงไปตรวจสอบความปลอดภัยถนน แต่มีคนทำงานด้านนี้น้อยมาก เรื่องนี้ รศ.ดร.กัณวีร์ บอกว่า
คนทำงานก่อสร้างถนน ส่วนใหญ่เรียนจบโยธาฯ ไม่ได้เรียนวิศวกรรมจราจร หรือวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน เรื่องเหล่านี้ไม่มีบรรจุอยู่ในหลักสูตร จึงขาดทักษะด้านนี้ จึงมีทั้งปัญหาเรื่องคนและองค์ความรู้
"เราต้องสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านถนน ประชาชนก็ช่วยได้ ช่วยชี้จุดที่เป็นปัญหา เป็นหูเป็นตาให้ค่ะ"