ปชช. 56.6% ไม่มั่นใจมาตรการร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กรมอนามัยห่วงดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงติดโควิด-19 เผยอนามัยโพล 56.6% ไม่มั่นใจมาตรการร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ พร้อมย้ำ 7 พฤติกรรมที่นักดื่มไม่ควรทำ ฝากผู้ประกอบการปฎิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (17 พ.ย.2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย แถลงข่าว "เปิดเมืองปลอดภัย คุมเข้ม กินดื่ม ในร้านอาหาร ด้วยมาตรการ COVID Free Setting และ 10 มาตรการเข้ม ลอยกระทงปลอดภัย"
- ดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศให้พื้นที่สีฟ้า หรือพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัดท่องเที่ยว สามารถเปิดบริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ เนื่องจากมีปัจจัยดังนี้ มีการรวมกลุ่มคนกินดื่ม สังสรรค์ มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแสดงดนตรีและร้องเพลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่นั้นๆ เป็นระยะเวลานาน มีการพูดคุยสังสรรค์ กินดื่มร่วมกัน
“การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 สูง ทั้งมาจากตัวสุราเองที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อโรคโควิดลงปอดเพิ่มสูงขึ้น สุราทำให้เม็ดเลือดขาวอ่อนแอ เมื่อเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย จึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และสุราทำให้ความยับยั้งชั่งใจน้อยลง อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงได้ เช่น ดื่มเหล้า -กินข้าววงเดียวกัน ไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่รักษาระยะห่าง ทำให้ปัจจัยการป้องกันตนเองในส่วนบุคคลลดลงไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
- เกิน 50%ไม่เห็นด้วยร้านอาหารขายแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ผลการสำรวจ Anamai Event Poll ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับมาตรการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ (ข้อมูลวันที่ 1-14 พ.ย.2564) ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจ 2,823คน พบว่า 56.8% ไม่เห็นด้วยกับการให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ เนื่องจาก 86.6% กังวลว่าจะเกิดการระบาด/เกิดคลัสเตอร์ใหม่ 56.3% ไม่มั่นใจในมาตรการป้องกัน 53.8% จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ 17.7%กลัวตัวเองติดเชื้อ และ 5.4% อื่นๆ เช่น การรวมกลุ่มกัน ผู้ดื่มมีการป้องกันตนเองลดลง
ส่วนกลุ่ม 43.2 เห็นด้วย เนื่องจาก 86.6% กระตุ้นเศรษฐกิจ 61.4% สร้างรายได้พนักงงาน/เจ้าของร้าน 29.0% พบปะสังสรรค์ 22.0% อยากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และ 6.0% อื่นๆ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว
- ประชาชน 56.6% ไม่มั่นใจมาตรการร้านอาหาร
“ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อมาตรการการป้องกันโควิด-19 ของร้านอาหารที่เปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ในร้าน พบว่า 56.6% ประชาชนไม่มั่นใจการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ส่วน 44.4%มีความเชื่อมั่น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่าในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่ามี 8.3%เคยไปร้านอาหารที่มีการเปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วน 91.7% ไม่เคยไป
กรณีของผู้ที่เคยไปร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ 65 % การจัดอุปกรณ์สำหรับบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกแต่ละบุคคล 52.6% มีการคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานและลูกค้าก่อนเข้าร้านด้วย ไทยเซฟไทย ไทยชนะ หรือแอปอื่นๆ และ 50.9 มีการจัดระบบการระบายอากาศที่ดี
- มาตรการที่ร้านอาหารควรเร่งปรับปรุง
แต่มาตรการที่ร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปฎิบัติได้ต่ำกว่า 50% ได้แก่ 41.5% การงดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น เต้นรำ การตะโกนเสียงดัง 38.5% เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกันหรือมีฉากกั้น 27.4% เห็นใบประเทศThai Stop Covid Plus/ COVID Free Setting /SHA ติดที่ร้านอาการ และ20.1%พนักงานแยกกันกินอาหาร ไม่รวมกลุ่มกัน
- 3 กิจกรรมเสี่ยงที่พบบ่อยในร้านอาหาร
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น จากการสำรวจ พบว่า
70.7% ประชาชนจะมั่นใจเมื่อร้านอาหารได้ผ่านมาตรฐานรับรองของกระทรวงสาธารณสุข และแสดงป้ายรับรองให้ชัดเจน Thai Stop Covid Plus/ COVID Free Setting /SHA เป็นต้น
68.9% พนักงานต้องแสดงผลการตรวจ RT-PCR หรือ ATK เป็นลบและผลการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วก่อนเข้า
65.7% ลูกค้าต้องแสดงผลการตรวจ RT-PCR หรือ ATK เป็นลบ และผลการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วก่อนเข้า
56.0% มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจประเมินและคุมเข้มปฎิบัติตามมาตรการ
41.1% จำกัดเวลาในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร
6.20% อื่นๆ เช่น จำกัดจำนวนการขายแอลกอฮอล์แต่ละโต๊ะ จักจำนวนคนแต่ละโต๊ะ บังคับการสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเวลาดื่มกิน หมั่นทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลภายในร้าน เป็นต้น
“จากการปฎิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ร้านจำหน่ายอาหารและให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าย ยังพบว่ามี 3 กิจกรรมเสี่ยงที่ยังพบบ่อยได้บ่อยๆ ตามสื่อโซเซียลมีเดีย และสื่อต่างๆ คือ 1. หลายร้านมีกิจกรรมส่งเสริมการขายและกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการหรือสถานบันเทิง ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ข้อกำหนดยังคงไม่อนุญาตให้เปิดบริการ 2.มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และ3. มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดังทั้งของพนักงานและผู้บริบริการ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
- ปรับแล้ว 3 ร้านอาหารแถวข้าวสาร
ด้าน นพ.เกษม กล่าวว่าจากนโยบายเปิดเมืองเปิดประเทศ สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนต่อร้านอาหารที่เปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการติดตามและสุ่มประเมินสถานประกอบกิจการร้านอาหารที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในพื้นที่กทม. และทั่วประเทศ พบว่า
ในพื้นที่กทม. ได้มีการสุ่มตรวจในร้านอาหาร (วันที่ 5พ.ย.2564ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.) จำนวน 25 ร้าน พบว่า มาตรการที่ทางร้านค้าได้ให้ความร่วมมือและปฎิบัติได้ดี ได้แก่ การจำกัดระยะเวลาการบริโภค ไม่มีกิจกรรมงานเลี้ยง สังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย จัดอุปกรณ์การบริโภคเครื่องดื่มเฉพาะส่วนบุคคล ไม่จำหน่ายในรูปแบบภาชนะที่มีโอกาสสัมผัสหรือใช้ร่วมกัน
ส่วนมาตรการที่ทางร้านปฎิบัติน้อยและต้องมีการปรับปรุง ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เนื่องจากบางร้านมีลูกค้าจำนวนมาก และร้านค้าไม่เข้มงวดเรื่องนี้ รวมทั้งมีการจัดพื้นที่ไม่แออัด การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ พนักงานประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านไทยเซฟไทย และกำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคล ในการควบคุมพฤติกรรมก็ยังปฎิบัติได้น้อย
อีกทั้ง จากการลงพื้นที่สุ่มประเมินร้านอาหารที่เปิดให้นั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านร่วมกับกทม. ในวันที่10-15 พ.ย.2564 พื้นที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร พบว่ามี 3 ร้าน ไม่ปฎิบัติตามมาตรการ เช่น มีการเต้นรำ ร้องเพลงร่วมกับทางนักดนตรี ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับตามความผิดตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ก็มีอัตราเปรียบเทียบคดี ครั้งที่ 1 6,000 บาท ครั้งที่ 2 1,200 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป 20,000 บาท
- 7 พฤติกรรมที่ไม่ควรทำของนักดื่ม
นอกจากนั้น ในพื้นที่สีฟ้า 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต พบว่า ในส่วนของจ.กระบี่ มีร้านอาหารทั้งหมด 185 ร้าน สุ่มตรวจ 53 ร้าน หรือ 28.65% พังงา มีร้านอาหารทั้งหมด 26 ร้าน สุ่มตรวจ 10 ร้าน หรือ 38.46 % และภูเก็ต มีร้านอาหารทั้งหมด 393 ร้าน สุ่มตรวจ 52 ร้านหรือ 10.69 ภาพรวมพบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่ มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting เป็นที่เรียบร้อย แต่ว่าจำนวนผู้ใช้บริการยังเข้ามารับบริการน้อย ส่วนใหญ่ผู้รับบริการเป็นคนในพื้นที่ หรือครอบครัวมาทานอาหารร่วมกัน ยังไม่มีผู้รับบริการที่เป็นนักท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร
“อยากฝากผู้มารับบริการ ซึ่ง 7 พฤติกรรมที่ไม่ควรทำของนักดื่ม คือ 1. ไม่ดื่มร่วมแก้ว ไม่กินร่วมจาน ไม่พูดคุย ใกล้ชิดกับคนไม่รู้จักเลี่ยงการสัมผัส 3. ไม่ดื่มจนเมาแค่เอาบรรยากาศ 4.ไม่ตะโกน สวมหน้ากากตลอดเวลา ถอดเฉพาะเวลาดื่ม 5. ไม่ดื่มเกินเวลา กลับบ้านอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที 6. ไม่ลืมล้างมือ เมื่อใช้ห้องน้ำร่วมกัน และ 7.ไม่ดื่มในร้านที่ไม่ผ่าน COVID Free Setting ดังนั้น สำหรับผู้มาใช้บริการร้านอาหารตอนนี้แม้จะไม่มีมาตรการลงทุน แต่อยากให้ผู้บริหารคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่นๆ ที่มาใช้บริการ รวมถึงผู้ประกอบการต้องปฎิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และกำชับผู้มาใช้บริการร่วมด้วย” นพ.เกษม กล่าว
อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในแต่ละจังหวัดจะอนุญาตให้มีการดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงขอให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดปฎิบัติตามประกาศจังหวัดต่างๆ โดยต้องปฎิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล เน้นย้ำการดื่มอย่างปลอดภัย และรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ต้องคุมเข้ม กิน ดื่มในร้านอาหารด้วยมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชน ตอนนี้อาจจะไม่มีมาตรการลงโทษ แต่เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฎิบัติตาม กำชับผู้มาใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด และผู้ใช้บริการแม้จะไม่มีบทลงโทษ แต่ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่นที่มาใช้บริการร่วมด้วย