เปิด "ศิริราช" ต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกในไทย
ศิริราช จับมือกับกสทช. หัวเว่ย และพันธมิตร เปิด "ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยี 5G" แห่งแรกในไทย ด้าน นายกฯ ย้ำไทยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในทุกมิติด้วยเทคโนโลยีและดิจิตอล ฝากคนไทยเรียนรู้การป้องกันโรคมากกว่ารอรักษา
วันนี้ (16 ธ.ค.2564)คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดพิธีเปิดโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G” โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ฯ พร้อมกล่าวนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G ว่ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รพ.ศิริราช ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้น ในการเปิดโรงพยาบาลต้นแบบ โรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์
“ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า เทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศ ทั้งการผลิต การตลาด การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ก้าวทันกระแสโลก โดยมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ดิจิตอล ไทยแลนด์ นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นองค์ประกอบหลักในการเพิ่มศักยภาพภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ และประชาชนเข้าถึง รวมถึงได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการนำมาประยุกต์ใช้ในทุกมิติ เพิ่มขีดความในการแข่งขันของประเทศ สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม” นายกฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการดำเนินการพัฒนาตั้งแต่ 3G มาจนถึง 5G ซึ่งต้องเร่งเดินหน้าทุกอย่างให้เร็วมากยิ่งขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนทุกเรื่อง วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์
- นายกฯฝากคนไทยเรียนรู้การป้องกันโรคมากกว่ารอรักษา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ขับเคลื่อนนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนจนนำมาสู่การสร้างต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างไร เราก็จะคิดออกว่าจะทำอะไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าประเทศชาติ ประชาชนต้องการอะไร โดยเราควรทำอย่างไรให้ประชาชน มีความสุข มีความปลอดภัย และมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้รับสั่งไว้ว่า ทำอะไรก็ทำไปให้ดีที่สุด และให้ประชาชนมีความสุขมากที่สุด
ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการให้ความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ ใช้งานได้เต็มรูปแบบในไม่ช้า ทั้งการลดขั้นตอน บูรณาการทางการแพทย์ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดความเสี่ยง และต้องมีการขยายไปยังรพ.อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการ เพื่อจะทำให้เกิดมิติใหม่ๆ ในวงการสาธารณสุข และประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
“มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน เพราะเรามีคนหลายช่วงวัยทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และกำลังเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการให้บริการทางการแพทย์ต้องครอบคลุมทุกช่วงวัย และจะทำอย่างไรให้คนไทยเรียนรู้ระบบป้องกันตนเองมากกว่ารอการรักษา ดังนั้น ต้องทำให้ทุกคนรู้จักการระมัดระวังสุขภาพของตนเอง การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารให้ครบหมู่ สิ่งดังกล่าวเป็นการปูพื้นฐานให้ทรัพยากรมนุษย์เข้มแข็ง และเดินหน้าไปสู่การพัฒนาประเทศ" นายกฯ กล่าว
- ศิริราชต้นแบบรพ.อัจฉริยะด้วย 9 โครงการ
งานวันนี้เพื่อปัจจุบันและอนาคต การทำอะไรก็ตามไปสู่อนาคตไม่ใช้เรื่องง่าย ต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว และมีแผนในการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลได้มีการนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หวังว่าทุกอย่างในโครงการนี้จะได้รับการสานต่อ และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วมากขึ้น
ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่าตามที่ได้มีมติให้ศิริราชได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกสทช.เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 เพื่อสร้างต้นแบบรพ.อัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยี 5G Cloud AI และ Digital Disruption มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล ที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับการพยาบาล ตลอดจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อันนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้มีการคัดเลือกทีมงานภายในคณะและหน่วยงานภายนอก รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพคนไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ อาทิ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ในการดำเนินการโรงพยาบาลอัจฉริยะใน 9 โครงการย่อย ดังนี้
1. ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart EMS
2. ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart Emergency Room
3. ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G : Pathological diagnosis system with 5G and artificial intelligence
4. ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G: 5G AI Platform for NCD
5. ระบบทำนายปริมาณการใช้และการจัดการสินค้าคงคลัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเครือข่าย 5G: Smart Inventory Management
6. ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน : Permission based block chain for personal health record
7. ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G: Smart Logistic with 5G Self-Driving car.
8. จัดหาอุปกรณ์ติดตั้งระบบ Multi-access Edge computing (MEC)
9. จัดหาติดตั้งระบบ Hybrid Cloud
- จัดตั้ง innovation lab บ่มเพาะนวัตกรรมทางการแพทย์
“แม้จะมีอุปสรรคจากโรคโควิด-19 แต่ทุกโครงการมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีความคืบหน้า และผลลัพธ์อย่างชัดเจน คาดว่าทุกโครงการจะทำให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้บริการทางการแพทย์มุ่งเน้นการส่งมอบด้านสุขภาวะให้แก่สังคมไทยและมวลมนุษยชาติ ให้เป็นที่ภาคภูมิใจ และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนคนไทย”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ยฯ ด้วยการผสมผสานความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ช่วยกันต่อยอด พัฒนาโครงการไปสู่มาตรฐานโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลก เพื่อให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่แก่วงการสาธารณสุขของไทยและของโลก รวมถึงมีความร่วมมือในการจัดตั้ง innovation lab และแพลตฟอร์มนวัตกรรม เพื่อบ่มเพาะโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต
- ไทยให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ประเทศแรกในอาเซียน
พ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่าตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุกต์ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย กสทช. มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล เร่งให้มีการอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน
“การมีเครือข่าย 5G แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ นายกฯ ซึ่งเข้าใจปัญหาดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ 5G เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ยีในวงกว้าง และอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติ 5G ได้มอบให้คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับกสทช. และพันธมิตร ดำเนินโครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ด้วยเทคโนโลยี 5G และอื่นๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการบริการ เพิ่มคุณภาพ ความปลอดภัย สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ป่วย และลดต้นทุนการให้บริการสาธารณสุขของประเทศ”พ.อ. ดร.นที กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ จะนำไปสู่การขยายในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป เพื่อสนับสนุน นโยบายของรัฐ เข้าถึงการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ
- หัวเว่ย ร่วมศิริราชสร้างโมเดลรพ.ต้นแบบอัจฉริยะ
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าหัวเว่ยได้ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G พร้อมเปิดตัวศูนย์ Innovation Lab ที่อาคารศรีสวรินทิรา เป็นการต่อยอดจากโครงการที่หัวเว่ยช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ให้กับทางโรงพยาบาลเมื่อ
ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเป็นโมเดลต้นแบบให้แก่การยกระดับภาคสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้การสนับสนุนช่วยศิริราชในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ เป็นไปตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย