เปิดแผนวัคซีนโควิด มกราคม 2565 "สูตรไขว้" กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

เปิดแผนวัคซีนโควิด มกราคม 2565 "สูตรไขว้" กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

สธ.ย้ำฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3 ติดต่อลงทะเบียนที่จุดฉีดในพื้นที่ - หมอพร้อม แจ้งเตือน เผยแผนวัคซีนเดือนมกราคม 2565 สูตรไขว้ กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

    เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวว่า  ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 272,414,588 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 675,799 ราย แนวโน้มลดลง เสียชีวิตสะสม 5,344,576 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 7,380 ราย ประเทศที่ยังมีการติดเชื้อรายใหม่สูง คือสหรัฐอเมริกา 117,621 ราย เสียชีวิต 1,419 ราย สหราชอาณาจักร ติดเชื้อรายใหม่ 78,610 ราย เสียชีวิต 165 ราย ฝรั่งเศส ติดเชื้อรายใหม่ 65,713 ราย เสียชีวิต 151 ราย เยอรมนี ติดเชื้อ 55,650 ราย เสียชีวิต 509 ราย รัสเซีย ติดเชื้อ 28,363 ราย เสียชีวิต 1,142 ราย และโปแลนด์ ติดเชื้อ 24,266 ราย เสียชีวิต 669 ราย  ส่วนมาตรการของไทยในการดูแลผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร 111,303 ราย ติดเชื้อ 210 ราย คิดเป็น 0.19% ส่วนใหญ่เป็น Test & Go ระบบ Quarantine และ Sandbox  ตามลำดับ

       นพ.วิชาญ กล่าวด้วยว่า นโยบายการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขเดือนมกราคม 2565 โดยที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สรุปว่า

-คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน กรณีผู้มีอายุ  18 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทุกสูตร

-อายุ 12-17 ปี ให้ใช้สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม

-ผู้ที่มาฉีดเข็ม 2 เป็นไปตามกำหนด
-คนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 กรณีที่ได้รับซิโนแวค+ แอสตร้าเซนเนก้าครบในเดือนส.ค.- ต.ค. 2564 ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก ส่วนผู้ที่ฉีด แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มในเดือนส.ค. - ต.ค. 2564 ให้พิจารณาฉีดไฟเซอร์เป็นหลัก
-ผู้ที่ฉีดเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้พิจารณากระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก

-ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับเข็มกระตุ้น  ให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ก่อนการติดเชื้อ ทั้งนี้ให้บริหารจัดการตามวัคซีนที่มีในพื้นที่

แนวทางการรับบริการวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น
- ระบบแจ้งเตือน  ให้มีระบบแจ้งเตือนกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของ สธ. ซึ่งได้มีการเรียกประชุมผู้ดูแลระบบหมอพร้อม เพื่อหารือถึงแนวทางการแจ้งเตือนคนครบกำหนดรับเข็มกระตุ้นให้มารับวัคซีน ใครที่ยังไม่ได้โหลดแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ก็ขอให้ดำเนินการโหลด ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

- ระบบการลงทะเบียน ผู้ต้องการรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถแจ้งความประสงค์ฉีด โดยลงทะเบียนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดไว้ ,ลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด หรือแอพพลิเคชั่น ที่หน่วยบริการกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียน,ลงทะเบียนที่หน่วยฉีดกลางบางซื่อ ผ่านเครือข่ายมือถือทั้ง 4 ค่าย และผู้ที่เคยรับการฉีดวัคซีนจากโครงการพิเศษต่างๆ เช่น ไทยร่วมใจ ประกันสังคม ให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นที่แต่ละโครงการกำหนดไว้
          ส่วนแนวทางการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มอบทุกจังหวัดเร่งรัดฉีดประชากรทุกสัญชาติให้เข้ารับวัคซีน เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงยาก เช่น ประมง ผู้ป่วยติดเตียง พื้นที่ทุรกันดาร แรงงานตามแนวชายแดน เป็นต้น นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังสั่งจัดทำแผนความต้องการวัคซีนรายเดือนมายังกระทรวงด้วย รวมถึง กทม.

          “คนที่มาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่ผ่านมา จะมีการเก็บข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลจะอยู่ใน Moph IC  และจะทราบว่า แต่ละเดือนมีประชาชนฉีดมาแล้วเท่าไหร่ โดยการแจ้งเตือนจะใช้แพลตฟอร์ม หมอพร้อม  แต่หากใครเข้าไม่ถึง ทางท่านปลัด สธ. ได้มอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ไปดูข้อมูลจากฐานข้อมูล  Moph IC   เพื่อเรียกนัดหมาย โดยกระบวนการเรียกนัดหมายก็จะเป็นของหน่วยบริการฉีดที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งต่างจังหวัดสามารถดำเนินการได้ ไม่ซับซ้อน แต่ในกรุงเทพมหานคร มีหลายหน่วย ทั้งฉีด รพ.เอกชน ฉีดของหน่วยบริการต่างๆ ด้วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงซับซ้อน  แต่ปลัด สธ. ได้ส่งสัญญาณ ขอไปทางสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อวิเคราะห์จัดทำแผนเพื่อจัดระบบแจ้งเตือน และเชิญชวนประชาชนมาฉีดตามจุดต่างๆ เบื้องต้น กทม.ได้จัดจุดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประมาณ 6-7 จุดทั่ว กทม. คาดว่าในสัปดาห์นี้จะชัดเจนในเรื่องระบบการแจ้งเตือน”นพ.วิชาญ กล่าว    

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์