สรุป! 10 ผลงานเด่น ของสปสช. ในยุคโควิด-19
ภารกิจหลักของ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช."คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งในสถานการณ์ด้านสุขภาพยามปกติและภาวะที่เกิดวิกฤตฉุกเฉินด้านโรคระบาด
ในปีงบประมาณ 2564 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวนมาก นับเป็นวิกฤตด้านสุขภาพที่รุนแรงอย่างยิ่ง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะหลักประกันสุขภาพของคนไทยได้ร่วมดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขในกรณีโควิด-19 ที่จำเป็น โดยไม่มีปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ดียิ่งขึ้น
ในปีงบประมาณ 2564 นี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญการก้าวย่างของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ความมั่นคง เชื่อมั่น และยั่งยืน ในความเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน
- 10 ผลงานเด่น สปสช. ปี 64
จากการดำเนินการต่างๆ จนปรากฎ “10 ผลงานเด่นกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2564” ดังนี้
1.จัดสรรงบดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกรณีโควิด-19 ต่อเนื่อง
สปสช.ประเมินสถานการณ์และจัดเตรียมงบประมาณรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 9,200 ล้านบาท จาก พ.ร.บ.กู้เงินฯ ปี 63 (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563) โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ในเบิกจ่ายรอบที่ 2 จำนวน 3,752.7050 ล้านบาท
ด้วยการแพร่ระบาดที่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ สปสช. ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงเสนอขอรับจัดสรรงบเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รอบที่ 3 จำนวน 9,847 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการให้บริการของหน่วยบริการ รวมถึงการจัดระบบบริการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการที่จำเป็นโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว การให้การรักษาและบริการกรณีโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เม็ดเงินที่ สปสช. จัดเตรียมไว้จึงไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการ ดังนั้น สปสช. ได้หารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจำนวน 20,829.23 ล้านบาท โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 และได้ดำเนินการโอนคืนให้กับหน่วยบริการที่รอจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและชุมชน
2.ร่วมคัดกรองโควิด-19 สนับสนุนระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน
สปสช.ได้ออกแนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขฯ ปีงประมาณ 2564 (เพิ่มเติม) สำหรับการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในการจัดบริการรองรับผู้ติดเชื้อ
ซึ่งผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านจะได้รับการจับคู่กับหน่วยบริการเพื่อติดตามอาการ ซึ่งจะได้รับยารักษา อาทิ ยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่อุณหภูมิร่างกาย เครื่องวัดค่าออกซิเจน พร้อมอาหาร 3 มื้อ ตลอดระยะเวลากักตัว 14 วัน
สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากผู้ติดเชื้อรอเตียงที่ค้างอยู่ในระบบสายด่วน สปสช. 1330 เมื่อมีประกาศให้รักษาที่บ้านได้ สปสช.ได้จับคู่ผู้ติดเชื้อโควิดกับคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อดูแลรักษา รวมถึงประสานโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้และรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร
ส่วนการจัดระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน หรือศูนย์พักคอยนั้น สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชน รวมถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ในพื้นที่ต่างๆ ร่วมจัดระบบ อาทิเช่น ในกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI) โรงพยาบาลเอกชน ในการดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านได้ รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือที่รอส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- เยียวยา ดูแลผู้แพ้วัคซีนโควิด-19
3.ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
วัคซีนโควิด-19 เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากช่วยป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อแล้ว ลดอัตราป่วยและเสียชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศชาติ โดยรัฐบาลมีนโยบายเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน แต่ด้วยความวิตกกังวลต่อภาวะไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้ว่าจะมีรายงานไม่มากแต่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของประชาชน สปสช. จึงได้จัดระบบเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งการช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท
ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท
ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 27 ก.ย. 2564 (ปีงบประมาณ 2564) มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,133 ราย คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาช่วยเหลือแล้ว 3,685 ราย เป็นเงินจำนวน 238,915,200 บาท
- แจกชุดตรวจ ATKให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตนเอง
4.สปสช. แจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง
ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงรับเชื้อสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว บอร์ด สปสช.ได้ประชุมเร่งด่วนเพื่อเห็นชอบให้มีการจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ในวงเงินจำนวน 1,014 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยบริการแจกจ่ายให้กับประชาชนตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง โดยดำเนินการตามกระบวนการผ่านเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี จัดซื้อโดยองค์การเภสัชกรรม
เพื่อให้ชุดตรวจ ATK กระจายไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างทั่วถึง สปสช.ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับชุดตรวจ ATK ผ่าน “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” และรับชุดตรวจ ATK ได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ทั้งที่หน่วยบริการปฐมภูมิและร้านยาในระบบที่เข้าร่วม นอกจากการประสานความร่วมมือกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการกระจายชุดตรวจ ATK เชิงรุกไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน
- ขยายการบริการ และเพิ่มอุปกรณ์ ยาในการรักษา
5.ขยายบริการ “สายด่วน สปสช. 1330” เพิ่มช่องทางผ่านระบบออนไลน์
จากจำนวนประชาชนที่โทรเข้ามาที่สายด่วน สปสช.1330 เพิ่มขึ้นถึงจำนวนกว่า 20,000 ครั้งต่อวันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ด้วยสถานการณ์วิกฤตโควิด -19 จนเกิดปัญหาการรอคิวบริการและเข้าไม่ถึงบริการ ด้วยเป็นช่องทางสำคัญในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการโควิด-19 ทั้งการจัดหาเตียงผู้ป่วย การลงทะเบียนผู้ติดเชื้อในระบบดูแลที่บ้านหรือในระบบชุมชน : HI/CI (กด 14) และการประสานเพื่อกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา โดย สปสช.ได้ทำการขยายคู่สายบริการเพิ่มเติมเป็น 600 คู่สายในระยะแรก และขยายเป็น 3,000 คู่สายในเวลาต่อมา มีการระดมเจ้าหน้าที่ สปสช. ทั้งส่วนกลางและเขต ตลอดจนทีมอาสาสมัครจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป มาร่วมรับสายบริการ และโทรกลับประชาชนในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับสายได้ทันเพื่อติดตามและให้บริการ พร้อมกันนี้ยังได้เพิ่มช่องทางบริการสำหรับกลุ่มผู้รับบริการเฉพาะ เพื่อให้เข้าถึงบริการโดยเร็ว อาทิ กรณีผู้ติดเชื้อที่ต้องการเข้าสู่ระบบดูแลที่บ้านหรือในระบบชุมชน : HI/CI HI/CI กด 14
ทั้งนี้ได้เพิ่มเติมการให้บริการในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน โดยสายด่วน สปสช. 1330 จะโทรติดตามผู้ติดเชื้อในทุกวัน เพื่อสอบถามอาการ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจการดูแลในระบบ HI/CI ให้กับประชาชน
นอกจากนี้ สปสช. ได้เพิ่มช่องทางบริการผ่านระบบออนไลน์ในช่องทางต่างๆ โดยมีอาสาสมัครร่วมตอบคำถาม อาทิ เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : www.nhso.go.th , Line OA : @nhso และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
6.เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษา ยา และอุปกรณ์ใหม่ในระบบบัตรทอง
ปี 2564 ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงพัฒนาต่อเนื่อง เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการ ดังนี้
บริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาในการล้างไตทางช่องท้อง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ เบื้องต้น สปสช. กำหนดเป้าหมายบริการผู้ป่วย 500 ราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย เนื่องจากสามารถล้างไตในช่วงเวลากลางคืนขณะหลับได้ ทั้งลดภาระญาติผู้ป่วยในการดูแล
รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ ยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Direct Acting Antiviral : HCV DAA ) ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีได้ทุกสายพันธุ์
ยารักษามะเร็ง 3 รายการ ได้แก่ ยาเคปไซตาบีน ชนิดเม็ด (Capecitabine /tab) รักษาโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งเต้านมแบบรับประทาน เพื่อให้ผู้ป่วยรักษาที่บ้านได้ จากแต่เดิมต้องมานอนรับเคมีบำบัดที่โรงพยาบาล, ยาอ๊อกซาลิพลาติน ชนิดฉีด (Oxaliplatin /injection) และยาอิริโนทีแคน HCL ชนิดฉีด (Irinotecan HCl /injection) ใช้ร่วมกันเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้จากเดิมที่ผู้ป่วยต้องนอนให้ยาที่โรงพยาบาลหนึ่งวันเหลือเพียง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังลดต้นทุนค่ายารักษาจากเดิมอยู่ที่ 2.1 แสนบาท เหลือเพียง 1.2 แสนบาท/คอร์ส เป็นต้น
- 4บริการเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรับสิทธิบัตรทอง
7.เพิ่ม 4 บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
นอกจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแล้ว การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเรื่องที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ความสำคัญ โดยปีงบประมาณ 2564 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใหม่ 4 รายการ ดังนี้
1.คัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
2.คัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
3.ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (Home Blood Pressure Monitoring: HBPM)
4. บริการสายด่วนเลิกบุหรี่
8.ปรับประเภทและขอบเขตบริการ เพิ่มความชัดเจนสิทธิบัตรทอง
สปสช. ได้ทบทวนระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2544 และรวบรวมประกาศคณะกรรมการฯ ตั้งแต่ปี 2546 รวมกว่า 31 ฉบับ มาจัดกลุ่มและรวมในฉบับเดียวกันและออกเป็นประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิการรับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบริการที่ไม่ครอบคลุม และป้องกันการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติม (Extra Billing) โดยเพิ่มข้อความให้ชัดเจนระบุว่า
“บุคคลผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการตามประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่กำหนดในประกาศนี้ จะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ยกเว้นเฉพาะกรณี 1. เป็นการร่วมจ่ายค่าบริการตามประกาศฯ ว่าด้วยการร่วมจ่าย 2. เป็นการบริการที่เป็นข้อยกเว้น ไม่คุ้มครองตามที่กำหนด 3. เป็นการเข้ารับบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการส่งต่อ หรือไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน”
ส่วนบริการที่เคยเป็นข้อยกเว้นก่อนหน้านี้ ประกาศฉบับฯ นี้ได้เสนอเป็นสิทธิเพิ่มเติม เช่น การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด, การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ, การรักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) และการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน ที่ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้น
9.รับฟังความเห็นพัฒนาระบบบัตรทองในสถานการณ์โควิด-19
สปสช.เดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเวทีการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ปี 2564 มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 6,113 คน รวมเป็นข้อเสนอ 2,344 ข้อ หลังการได้จัดกลุ่มและตัดความซ้ำซ้อนของข้อเสนอ แยกประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ข้อเสนอใหม่รวม 58 ข้อ ครอบคลุมใน 8 ด้าน ได้แก่ 1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. ด้านบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 4. ด้านหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และค่าบริการ LTC 6. การมีส่วนร่วม 7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8. ด้านอื่นๆ
สำหรับข้อเสนอใหม่ อาทิ จัดสรรงบสนับสนุนผู้ดูแลหรืองบเฉพาะโรคแก่หน่วยปฐมภูมิในการออกเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วย เพิ่มงบบริหารจัดการขยะในผู้ป่วยฟอกไตให้หน่วยบริการ พัฒนาระบบริการระดับปฐมภูมิให้ประชาชนเห็นความสำคัญด้านการป้องกันโรค ส่งเสริมเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ รักษาสุขภาพดี ไม่ป่วย NCD มีรางวัลหรือขวัญกำลังใจตอบแทน เป็นต้น โดย สปสช.จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคณะอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
- ยกระดับระบบบัตรทองปี 65
10.รุกนโยบายยกระดับระบบบัตรทอง ปี 65
ตามที่ บอร์ด สปสช. เห็นชอบให้ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ใน 4 บริการ ผลดำเนินการตามรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 เดือน ปีงบประมาณ 2564 พบว่าได้ช่วยลดความยุ่งยากในการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนได้มาก เริ่มจากบริการ
ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ไหนก็ได้ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” นำร่องในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา
ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว พบว่าผู้ป่วยและญาติ ได้รับความสะดวก ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ จำนวน 82,599 ครั้ง และไม่ปรากฎข้อร้องเรียนจากประเด็นนี้ และด้วยผลดำเนินการนี้ ในปี 2565 สปสช. ได้ขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน