ท้องไม่พร้อม..จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย แนะรู้สิทธิ ก่อนยุติตั้งครรภ์

ท้องไม่พร้อม..จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย แนะรู้สิทธิ ก่อนยุติตั้งครรภ์

จากกรณีเหตุสะเทือนใจในโรงเรียนมัธยม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน นักเรียนสาว 17 ปี อ้างท้องเสีย แอบคลอดลูกสาวในห้องน้ำโรงเรียน และนำใส่ถุงดำโยนทิ้ง โดยพบยา 1 แผงเป็นภาษาญี่ปุ่น อาจเป็นยารีดลูก ขณะที่โรงเรียน ตำรวจ พร้อมใจกันปิดข่าวเงียบ

วันนี้ (29 ธ.ค.2564)คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแถลงข่าวออนไลน์ ‘(ถอด) บทเรียนจากน่าน : สิทธิเยาวชนตาม พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น’ โดยมี นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  กล่าวว่าพ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น คือ สิทธิของเยาวชนที่ต้องรู้ ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย  เพราะต่อให้ขณะนี้สถิติการท้องไม่พร้อมลดลง จากเดิม จะพบเด็ก 53 ต่อ 1,000 คน ท้องไม่พร้อม เหลือเพียง 23ต่อ1,000 คนท้องไม่พร้อม แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ยังถือว่ามากอยู่

ทั้งนี้  ในปี 2563 พบว่ามีเด็กทารกเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้มีความตื่นตัวในเรื่องท้องไม่พร้อม เป็นวาระแห่งชาติ และมีการออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาในวัยรุ่น ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นการให้สิทธิเด็กและเยาวชน ทั้งการให้ความรู้ การเลือกชีวิตด้านอนามัยเจริญพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน เด็กทุกคนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องมีสิทธิเลือกชีวิตของตนเอง จะอยากยุติท้อง หรือต้องเก็บเด็กไว้แต่ทั้งนี้ เด็กต้องได้รับการเรียนหนังสือ ต้องไม่ออกจากระบบการศึกษา

 

  • พัฒนาเครื่องมือสร้างต้นทุนแก่เด็กท้องไม่พร้อม

“บทเรียนของนักเรียนจ.น่านนั้น แสดงให้เห็นว่ามีหลายภาคส่วน โดยเฉพาะตัวเด็กเองยังไม่รับรู้สิทธิตามพ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น รวมถึงเขาอาจจะไม่กล้าปรึกษาใคร ทั้งที่จริงๆแล้ว เขาสามารถปรึกษาครู โรงเรียน และครู โรงเรียนเองก็ต้องพัฒนาให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างให้เด็กมีสุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดี และให้เด็กที่ตั้งครรภ์ได้รับการศึกษาต่อที่เหมาะสม ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กทุกคนเมื่อมีปัญหาสามารถปรึกษาเพื่อน ครู และผู้ปกครองได้ ซึ่งครูและผู้ปกครอง หรือเพื่อนต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสม ต้องให้พวกเขารู้สิทธิที่ควรจะได้รับ”นพ.วิวัฒน์ กล่าว

 ด้าน นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวทุกปีจะมีคุณแม่ตั้งครรภ์ปีละ 50,000-60,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นจะมีวัยรุ่นท้องไม่พร้อมจำนวนหนึ่ง โดยบทบาทของสสส. จะให้ความสำคัญในการให้องค์ความรู้ และสร้างเข้าใจตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาในวัยรุ่น รวมถึงการพัฒนาโมเดลที่ตอบสนองบริบทของแต่ละพื้นที่ สร้างความชัดเจนในการทำงานของผู้รับผิดชอบ และผลักดันนโยบาย

นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่าสสส.เป็นเสมือนข้อต่อในการทำงาน สร้างพลังให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เรามีการพัฒนาเครื่องมือสร้างต้นทุนชีวิตให้วัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม  หรือการทำงานขับเคลื่อนร่วมกับกรมอนามัย เครือข่ายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือมีการจัดทำหลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้าน หลักสูตรทำความเข้าใจของผู้บริหารสถานศึกษาครูเข้าใจถึงสิทธิเยาวชน เสริมสร้างความเข้าใจให้วัยรุ่นป้องกันตนเอง

 

  • เปลี่ยนทัศนคติเชิงบวก เด็กท้องไม่พร้อม

“ท้องไม่พร้อมไม่ควรมีบุตร และหาทางออกที่ปลอดภัย เช่น กรณีน้องจ.น่าน ครูสามารถชี้แนะให้ทางเลือกที่ปลอดภัย การให้เด็กมีชีวิตที่ดีต้องเริ่มจากทุกคน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ ความท้าทายสำคัญของการแก้ปัญหาในวัยรุ่น คือ ทัศนคติ ซึ่งไม่มีใครอยากท้องในช่วงวัยที่ยังไม่พร้อม เมื่อน้องๆ ตั้งครรภ์ไปแล้ว อยากให้มองว่าชีวิตมีทางออก มีทางเลือก มีหลายช่องทาง และกลไกในเชิงกฎหมาย พ.ร.บ. เชิงระบบก็เป็นกลไกที่เป็นมิตร และพร้อมสนับสนุนให้วัยรุ่นท้องไม่พร้อม ได้ใช้ชีวิตต่อไป และอยากให้สังคมมีทัศนคติเชิงบวก ขอให้สนับสนุนส่งเสริมแก้ไขปัญหา ทำให้ไม่ต้องเกิดกรณีอย่างน้อง จ.น่าน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไปได้นายชาติวุฒิ กล่าว  

ขณะที่ ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่าพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาในวัยรุ่น ได้มีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานาน แต่ปัญหาที่เด็กท้องไม่พร้อม กำลังประสบคือ ไม่รู้จะปรึกษาใคร และตอนนี้ต่อให้มีช่องทางช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสายด่วน 1663 หรือเว็บไซต์ line  รวมถึงมีการให้ความรู้ รับคำปรึกษาท้องไม่พร้อมโดยตรง หรือส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย  มีหน่วยบริการ แต่เด็ก รวมถึง ครู เพื่อน ผู้ปกครองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ต้องมีการวางแผนการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ให้เด็กได้รับทราย ป้องกันไม่ให้เด็กเผชิญหน้าปัญหากันตามลำพัง และต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม

นายเอกสิทธิ์ จ้อยสองศรี ผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กม.นี้เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน แต่วัยรุ่นที่ไม่พร้อมยังไม่เข้าใจเพศวิถี และไม่เข้าใจพ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงมีการตีตราจากสังคม สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีผู้พิทักษ์สิทธิ ให้แกนนำต่างๆ มาเรียนรู้สิทธิเพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่เด็กและเยาวชนต่อไป