สปสช. เคาะ 4 ประเด็น พัฒนา "สิทธิบัตรทอง" ปี 2565

สปสช. เคาะ 4 ประเด็น พัฒนา "สิทธิบัตรทอง" ปี 2565

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ 4 ประเด็นรับฟังความคิดเห็นพัฒนา "สิทธิบัตรทอง" ปี 2565 ประกอบด้วย การถ่ายโอน รพ.สต.ไปสังกัดท้องถิ่น-การบริหารจัดการหลังสถานการณ์โควิด-การต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่เข้ารักษาที่หน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ และการพัฒนาสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 6 ม.ค.2565 ที่มี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน มีมติเห็นชอบประเด็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขประจำปี 2565 ตามข้อบังคับข้อ 4 (5) ของหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้กรรมการและสำนักงานจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นหรือปัญหาที่คณะกรรมการเห็นสมควรตามความจำเป็นและเหมาะสมในแต่ละปี โดยอาจเลือกประเด็นใดหรือหลายประเด็นร่วมกันก็ได้

 

  • 4 ประเด็น "สิทธิบัตรทอง"

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ ประเด็นที่คณะกรรมการ สปสช. เห็นชอบให้มีการรับฟังความคิดเห็นมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย

 

1.การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโอกาสและความเป็นไปได้ ทั้งนี้ เพื่อรับทราบความคาดหวังของประชาชนต่อระบบบริการปฐมภูมิ และเพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค ความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนจากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

2.การบริหารจัดการหลังสถานการณ์โควิด ระบบบริการรองรับที่จำเป็น เพื่อรวบรวมปัญหาและความต้องการของประชาชนที่มีผลกระทบจากโควิด และเพื่อให้ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็น ได้เสนอแนวทางการจัดบริการรองรับการแก้ไขปัญหาตามความจำเป็น

 

สปสช. เคาะ 4 ประเด็น พัฒนา \"สิทธิบัตรทอง\" ปี 2565

3. 30 บาทรักษาทุกที่ หรือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารักษาที่หน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ต่อยอดให้ดีขึ้นได้อย่างไร เป็นประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับทราบสถานการณ์การรับรู้นโยบายยกระดับบริการสิทธิบัตรทองของประชาชน ประเมินผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนค้นหาความต้องการ ความคาดหวังของผู้รับบริการเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนโยบายในอนาคต

 

4. คนไทยใช้สิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ทุกที่ เป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับทราบสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรค การเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และรับฟังข้อเสนอต่างๆจากทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในส่วนของกำหนดระยะเวลาและกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2565 นี้ จะเริ่มการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ สปสช.เขต 1-13 ในช่วงไตรมาส 2-4 ของปีงบประมาณ 2565 โดยใช้รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นตามสภาพปัญหา สถานการณ์ และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเน้นการรับฟังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เข้าไม่ถึงบริการและมีปัญหาระบบเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร

จากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับเขตในช่วงไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ จากนั้นสรุปความคิดเห็น / ข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นในเขตพื้นที่ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศ ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีงบประมาณ และสรุปข้อเสนอต่างๆในเดือน ก.ค. 2565

 

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า นอกจาก 4 ประเด็นที่คณะกรรมการ สปสช. เห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็นแล้ว หากผู้เสนอความคิดเห็นมีประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ ก็สามารถนำเสนอได้เช่นกัน โดยทางสำนักงาน สปสช. จะรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณา หรือพัฒนาเป็นนโยบายหลักประกันสุขภาพในอนาคตต่อไป

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso