สปสช. หนุนบริการเชิงรุก "หญิงตั้งครรภ์" อายุน้อย ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

สปสช. หนุนบริการเชิงรุก "หญิงตั้งครรภ์" อายุน้อย ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

สปสช. ลงพื้นที่พระนครศรีอยุธยา หนุนบทบาทภาคประชาชนร่วมกับเครือข่ายบริการสุขภาพในพื้นที่ จัดบริการเชิงรุกค้นหา “หญิงตั้งครรภ์” ให้ได้รับการดูแล-เข้าฝากครรภ์ตามเกณฑ์ ลดอัตรา "การคลอดก่อนกำหนด" ต้นเหตุปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 4, ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดบริการค้นหา หญิงตั้งครรภ์ ในพื้นที่เข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพครรภ์ ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ จากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา

 

น.ส.ชลดา บุญเกษม ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า คณะทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เขตสุขภาพที่ 4 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงต่อแม่และเด็กในครรภ์ จึงได้ดำเนินโครงการค้นหาและติดตามเยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและองค์ความรู้จากศูนย์อนามัยที่ 4 อบรมให้กับภาคประชาชนที่อาสาเป็นผู้ดูแลในพื้นที่ เพื่อทำการค้นหาหญิงตั้งครรภ์เป้าหมายในพื้นที่เข้าสู่ระบบการดูแล มีการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ คลอดได้ตามกำหนด ตลอดจนการดูแลสุขภาพแม่และเด็กหลังคลอด

 

สปสช. หนุนบริการเชิงรุก \"หญิงตั้งครรภ์\" อายุน้อย ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

  • นำร่อง 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 อำเภอ

 

น.ส.ชลดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากข้อมูลทางสถิติของเขตสุขภาพที่ 4 พบหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดก่อนในอัตราที่สูงมาก ซึ่ง การคลอดก่อนกำหนด นี้จะนำไปสู่ปัญหาคุณภาพของเด็ก เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ จึงเดินหน้าการแก้ปัญหาของพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด นำร่องจังหวัดละ 1 อำเภอ โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำร่องใน อ.เสนา ด้วยการอบรมให้ความรู้ผู้ดูแลตำบลละ 1 คน ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการที่จะเข้าไปค้นหาและดูแลหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ที่เพิ่งท้อง ให้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลเพื่อลดภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ทำให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพตามเกณฑ์

 

“หน่วย 50(5) ในฐานะการทำงานของภาคประชาชน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่มีความเข้าใจและได้รับความไว้วางใจจากชุมชน ได้เข้ามามีส่วนช่วยภาครัฐในการดำเนินการนี้ โดยอาศัยเครือข่ายภายในชุมชนในการปูพรมค้นหาเคสหญิงตั้งครรภ์เพื่อเข้าไปให้การดูแล ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564 ขณะนี้ได้ดูแลหญิงตั้งครรภ์ให้เข้าสู่ระบบแล้ว 4 ราย” น.ส.ชลดา กล่าว

 

สปสช. หนุนบริการเชิงรุก \"หญิงตั้งครรภ์\" อายุน้อย ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

  • ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ ลดปัญหาเด็กไม่สมบูรณ์

 

นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 4 กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงจากปีละประมาณ 1 ล้านคน เหลือเพียงประมาณ 5 แสน และเมื่อเด็กเกิดน้อยยิ่งต้องทำให้มีคุณภาพ โดยปัจจัยสำคัญคือการดูแลตั้งแต่ตอนที่อยู่ในครรภ์ให้ดีที่สุด ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นที่แม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์แล้วไปฝากท้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ความระมัดระวังในการดูแลเด็ก ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้วบทบาทสำคัญคือหน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดมาช่วยเสริมให้การดูแล

 

“ปัญหาของเด็กคลอดก่อนกำหนด จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ เมื่อโตขึ้นมาก็จะไม่แข็งแรง ซึ่งในจุดนี้ต้องมีการฝากท้องแต่เนิ่นๆ และให้การดูแลอย่างเต็มที่ โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในทุกวันนี้คือการให้ประชาชนมี Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขตสุขภาพที่ 4 เราให้ความสำคัญ เพื่อให้เด็กไทยสมบูรณ์แข็งแรง และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป” นพ.สมยศ กล่าว

 

ขณะที่ น.ส.รัชรินทร์ เกิดวิธี หนึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล และช่วยเหลือให้ความรู้ในทุกด้านเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นท้องแรกของตน ซึ่งพบว่าตนเองมีภาวะมดลูกต่ำ เสี่ยงต่อการแท้ง ผู้ดูแลจึงได้ให้คำแนะนำในการดูแลรวมถึงภาวะที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องของการรับประทานอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

 

สปสช. หนุนบริการเชิงรุก \"หญิงตั้งครรภ์\" อายุน้อย ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด

 

  • เชื่อมท้องถิ่นกับประชาชน

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หน่วย 50(5) เป็นกลไกหนึ่งของท้องถิ่นที่เชื่อมต่อกับประชาชน ซึ่งตามปกติจะเป็นหน่วยรับเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ แต่ตัวอย่างของ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แสดงอีกบทบาทหนึ่งคือการทำหน้าที่ค้นหาหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้ได้รับการดูแล ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

 

“การฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแม่และเด็ก ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการไปฝากครรภ์ โดยก่อนหน้านี้ได้กำหนดให้สามารถฝากครรภ์ได้ 5 ครั้ง แต่ปีนี้เป็นต้นไปเราได้เปลี่ยนใหม่ให้ฝากครรภ์กี่ครั้งก็ได้ และสามารถเบิกกับ สปสช.ได้ทั้งหมด จึงขอให้ความมั่นใจกับแม่ที่ตั้งครรภ์ว่าสามารถฝากครรภ์กี่ครั้งก็ได้ตามที่แพทย์สั่ง เอาความปลอดภัยของแม่และเด็กเป็นหลัก” นพ.จเด็จ กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลปัญหาสุขภาพของเขตสุขภาพที่ 4 พบว่ามีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ครั้งแรก ขณะอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์เพียงร้อยละ 65.8 ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายรวมทั้งประเทศที่ตั้งไว้ร้อยละ 82.8 อย่างไรก็ตามตัวอย่างของการเดินหน้าขณะนี้ ที่ใช้กลไกเชิงรุกของชุมชนและท้องถิ่นเข้ามาช่วยกันดูแลหญิงตั้งครรภ์ หากสามารถขยายการดำเนินการได้ในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น จะช่วยทำให้เราลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นทั้งต่อตัวแม่และเด็ก ทั้งเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพที่ดี และเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso