ศบค. เผยพบ "คลัสเตอร์" สถานพยาบาลโผล่ 12 จังหวัด
ศบค. เผย พบ "คลัสเตอร์" สถานพยาบาล กระจายกว่า 12 จังหวัด อีกทั้งยังพบคลัสเตอร์สถานศึกษา สถานประกอบการ ตลาด ขณะที่ สถานบันเทิงพบการระบาดน้อยลง แนะแนวทางปฏิบัติ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง แยกกักตัว สังเกตุอาการ
วันนี้ (7 ก.พ. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล “พญ.สุมนี วัชรสินธุ์” ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรครายงาน รายงาน 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดรายวัน พบว่า อันดับ 1 ยังเป็น กทม. ติดเชื้อ 1,391 ราย โดยเช้านี้ ศบค. ชุดเล็ก ตัวแทนจาก กทม. มีการชี้แจงถึงสาเหตุการติดเชื้อใน กทม. ยังมีเป็นระยะต่อเนื่อง
ล่าสุด เป็นคลัสเตอร์สถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 25 ราย ทั้งนี้ขอให้ รพ. ในกทม. เมื่อพบผู้ติดเชื้อให้รายงานอย่างรวดเร็ว เพราะอาจจะมีจำนวนที่ค้างการรายงานอีกราว 200-300 ราย
ถัดมา อันดับ 2 คือ สมุทรปราการ 962 ราย ชลบุรี 545 ราย นนทบุรี 474 ราย ภูเก็ต 436 ราย นครปฐม 274 ราย ราชบุรี 265 ราย นครราชสีมา 263 ราย นครศรีธรรมราช 213 ราย และ ขอนแก่น 208 ราย ตามลำดับ
- “คลัสเตอร์” สถานพยาบาล 12 จังหวัด
สำหรับ คลัสเตอร์กลุ่มแรก คือ คลัสเตอร์สถานพยาบาล กทม. 39 ราย ขอนแก่น ปทุมธานี ชลบุรี จังหวัดละ 8 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ลพบุรี 5 ราย สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต จังหวัดละ 4 ราย สระบุรี มหาสารคาม ปัตตานี จังหวัดละ 3 ราย
คลัสเตอร์โรงเรียนสถานศึกษา จ.สระแก้ว 44 ราย สุรินทร์ 26 ราย ยโสธร 25 ราย สุพรรณบุรี 20 ราย น่าน 19 ราย ราชบุรี 13 ราย มหาสารคาม 11 ราย ขอนแก่น ปราจีนบุรี จังหวัดละ 9 ราย อำนาจเจริญ มุกดาหาร จังหวัดละ 5 ราย
คลัสเตอร์โรงงานสถานประกอบการ ชลบุรี 20 ราย ลพบุรี 12 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 10 ราย ปราจีนบุรี 7 ราย สมุทรปราการ สุรินทร์ บึงกาฬ จังหวัดละ 6 ราย และอุดรธานี 5 ราย
คลัสเตอร์งานประเพณี ได้แก่ งานศพ อุบลราชธานี 6 ราย มหาสารคาม 5 ราย สงขลา 4 ราย , งานแต่ง ร้อยเอ็ด สงขลา จังหวัดละ 4 ราย ราชบุรี 2 ราย , งานบวช ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย ขอนแก่น 2 ราย
คลัสเตอร์ตลาด พบมากที่สุด ได้แก่ กทม. 66 ราย ชลบุรี 29 ราย อุบลราชธานี 23 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย ขอนแก่น 13 ราย น่าน 11 ราย ส่วนใหญ่พบว่าการแพร่ระบาดการติดเชื้อเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
ปัจจัยที่ 1 สถานที่ เมื่อสอบสวนจะเป็นอากาศปิด แผงไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบ คนหนาแน่น
ปัจจัยที่ 2 ไม่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือ สวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง ใส่ไว้ใต้คาง และ ไม่มีการคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีแอลกอฮอลเจล และไม่มีที่ทำความสะอาดมือ
ปัจจัยที่ 3 แรงงานในตลาด 1 คนทำงานหลายที่ เป็นแรงงานมีการเคลื่อนย้ายบ่อย อาจเป็นกลุ่มแรงงงานที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ ทำให้มีโอกาสติดโรคและแพร่ระบาดได้
“ดังนั้น เพื่อลดการแพร่ระบาดการติดเชื้อ นอกจากขอความร่วมมือ เจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้าในการจัดการสภาพแวดล้อม ทั้งปรับสภาพ ทั้งแผงการขายให้เป็นระเบียบ และอากาศถ่ายเท ต้องให้พี่น้องประชาชนที่ไปใช้บริการยังต้องระมัดระวัง เพราะความเสี่ยงยังเกิดได้จากการสัมผัสธนบัตร เนื้อสัตว์ ผลไม้ โดยตรง และถุงพลาสติกที่ใส่ของ สามารถป้องกันได้โดยล้างมือทุกครั้ง และการจ่ายเงินมีการจ่ายแบบออนไลน์ ไม่ต้องมีการสัมผัส นอกจากนี้ ทุกครั้งที่เข้าตลาด ต้องใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง อยู่ในที่คนไม่หนาแน่น เว้นระยะห่าง” พญ.สุมนี กล่าว
- คลัสเตอร์ร้านอาหาร ระบาดน้อยลง
คลัสเตอร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง จำนวนการระบาดน้อยลง พบที่ ขอนแก่น 15 ราย ร้อยเอ็ด 13 ราย มหาสารคาม ประจวบคีรีขันธ์ 9 ราย สุพรรณบุรี และ ชลบุรี จังหวัดละ 5 ราย อุดรธานี ชุมพร แพร่ น่าน สงขลา จังหวัดละ 2-3 ราย
- มหาสารคาม งดกินข้าวร่วมกัน
จังหวัดที่มีรายงานการติดเชื้อที่ต่อเนื่อง ได้แก่ จ.มหาสารคาม ได้มีการประกาศขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน งดรับประทานอาหารร่วมกันในกิจกรรมต่างเช่น งานประชุม สัมมนา พิธีกรรมทางศาสนา งานศพ บวช แต่ง หรืองานบุญต่างๆ รวมถึง สถานที่ทำงานและสถานที่ราชการ มีผล 5 ก.พ. ที่ผ่านมาเป็นต้นไป
- ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
ในช่วงนี้ที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดของ โอมิครอน ว่าเมื่อไหร่เราจะจัดเป็นผู้เสี่ยงสูง โดยนิยาม ระบุว่า ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และมีข้อต่อไปนี้ 1 ข้อ ได้แก่
1. ไม่สวมหน้ากากอนามัย และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ในวันที่มีอาการหรือก่อนมีอาการ 3 วัน
2. ไม่สวมหน้ากากอนามัย คุยกับคนติดเชื้อในระยะใกล้กว่า 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือโดนผู้ติดเชื้อจาม หรือ ไอ รดจากผู้ป่วย
3. ไม่สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที
- แนวทางปฏิบัติ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
หากเป็นข้อใดข้อหนึ่ง ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากเป็นกลุ่มดังกล่าว อันดับแรก ให้แยกตัวจากผู้อื่น กักตัวที่บ้าน 7 วัน หากมีสมาชิกในบ้าน ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา สังเกตอาการตัวเอง ว่ามีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก หรือไม่ หากมีอาการให้ตรวจ ATK แต่หากไม่มีอาการให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5-6 นับจากวันที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
หาก ATK เป็นบวก โทรไปที่ 1330 ลงทะเบียนกับ สปสช. เพื่อลงทะเบียน Home isolation แต่หากผู้เป็นลบ สามารถไปทำงานได้ แต่ยังต้องขอความร่วมมือ งดไปสถานที่สาธารณ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า งดใช้ขนส่งสาธารณะที่มีความหนาแน่น และตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 10 หากผลเป็นลบ สามารถใช้ชีวิตปกติได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการการป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention