สธ.ปลดโควิด19จาก"โรคฉุกเฉิน" ผุด"UCEP พลัส"รักษาฟรีทุกที่
สธ.ปลดโควิด19 จาก“โรคฉุกเฉิน” ปรับตามสถานการณ์หลังอยู่ร่วมมา 2 ปี ยันไม่ยกเลิกUCEP อาการเข้าเกณฑ์ยังรักษาได้ทุกที่ ผุด “UCEP พลัส” รองรับคนติดเชื้อและมีโรคร่วมเดิมเข้ารักษาได้ทุกที่ แม้อาการไม่รุนแรง ระบุอัตราป่วยตายไทยลดลงอยู่ที่ 0.2 % ต่ำกว่าของโลกอยู่ที่ 1.4%
เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 ที่ศูนย์การแพทย์ บางรัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่หรือUCEPกรณีติดโควิด19ว่า UCEP เป็นการปรับปรุงวิธีการให้บริการตามอาการของผู้ป่วยโควิด 19 แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือการถอดโควิด19ออกจากการเป็นโรคฉุกเฉิน เพราะตอนนี้โควิด19อยู่มา 2 ปีกว่าแล้ว พยายามที่จะจัดระบบบริการเพื่อรองรับได้ ในประเทศไทยไม่ได้มีโรคโควิดอย่างเดียว ยังมีโรคติดต่ออื่นและไม่ติดต่อรอใช้บริการทางการแพทย์ รอเตียง รอการบริการในรพ.ต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเน้นว่าโควิด19 ฉุกเฉินจะต้องแซงคิว จะต้องได้อภิสิทธิ์เหนือโรคอื่นทุกอย่าง จะทำให้ระบบสาธารณสุขรวนได้ จึงเป็นการปรับระบบสาธารณสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทย วันนี้โควิดไม่ใช่โรคใหม่แล้วต่อสู่กับมันมา 2 ปีกว่าแล้ว ต้องให้ระบบพื้นฐานไม่ได้รับผลกระทบ
“ไม่ได้เป็นการยกเลิกUCEPเป็นอันขาด เพราะถ้ามีอาการฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ เช่น หายใจไม่ได้ เหนื่อยหอบ ไอรุนแรงที่มีการกำหนดไว้ ยังเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้เหมือนเดิม ให้การดูแลเหมือนเดิม และได้มีการกำหนดเป็น UCEP พลัสในการดูแลด้วย ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือสีเขียวก็เป็นการรักษาแบบHI”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด19ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในกทม.และเป็นการติดเชื้อในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าสายพันโอมิครอนก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเกิดการรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา ถ้าคนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และบูสเตอร์ให้มากที่สุด น่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ได้ ส่วนอัตราเจ็บป่วยอาการรุนแรง เสียชีวิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมสถานการณ์ได้
ถามถึงกรณีที่ผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ลูกหลาน พามาฉีดวัคซีน เพราะจะเกิดความปลอดภัย ซึ่งมีการศึกษา ติดตามผลแสดงชัดเจนว่าผู้ได้รับวัคซีนมีความปลอดภัยบจากอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเป็นหลายร้อยเท่า และวัคซีนเป็นวัคซีนที่มีมาตรฐาน และประเทศไทยฉีดเกิน 120 ล้านเข็มแล้ว
ส่วนนักเรียนกำลังเร่งฉีดวัคซีนที่มีทั้งวัคซีนไฟเซอร์และซิโนแวค ตามช่วงอายุที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ขึ้นทะเบียน เพราะฉะนั้น วัคซีนมีประสิทธิภาพที่ดี มีมาตรฐาน เรื่องของวัคซีนต้องฟังสธ.เพราะมาจากข้อชี้แนะของอาจารย์ทางการแพทย์ มีคณะกรรมการวิชาก ร และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเกี่ยวข้องโดยตร ง ก็ขอให้เชื่อข้อมูลวิชาการ
“ การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เพราะสายพันธ์โอมิครอนที่ติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว ความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อก็ไม่มาก ซึ่งตอนนี้มากกว่า 85 %ก็ติดเชื้อไม่มีอาการ และผู้เสียชีวิตทมากกว่า 90 %เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มเสี่ยงสูง ยังอยู่ในกรอบของการควบคุมโรค แต่ไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุนี้ และพยายามควบคุมให้เกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ส่วนเตียงรองรับไม่มีปัญหา เพราะประชาชนให้ความร่วมมือในดูแลที่บ้านแบบHome Isolation:HI และในชุมชนCommunity Isolation:Ci และกำsofมาตรฐานระดับอาการว่าถึงอาการอย่างไรให้การดูแลอย่างไร”นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า โรคโควิด19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ส่วนที่ผ่านมาต้องกำหนดเป็นโรคฉุกเฉินเนื่องจากเป็นโรคใหม่และกังวลจะไม่มีที่รักษาพยาบาลและทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการก็เหมือนโรคหวัดทั่วไป ที่มีคนป่วยหลายแสนรายต่อวันก็ไม่มีปัญหา เช่นเดียวกัน ตอนนี้คนติดโควิดที่จำเป็นต้องนอนรพ.มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป
ในส่วนของเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ รักษาทุกที่หรือ UCEP ปัจจุบันมี 2 ส่วน คือ UCEP ทั่วไป และUCEP โควิด 19 ซึ่งสามารถไปรักษาที่รพ.เอกชนตอนไหน เวลาไหนก็ได้หากพบว่าติดโควิด19 เพราะเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การติดโควิด19ต้องไม่นำแล้ว แต่UCEP ยังมีอยู่ โดยหากคนไข้โควิด19ถ้ามีอาการรุนแรงถึงขนาด เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด19 แม้ว่าโควิด19ไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง ก็จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็น UCEP โควิด19 เพื่อให้ได้รับการดูแลเพราะการดุแลไม่ใช่ดูแลแบบโรคไต แต่เป็นการดูแลแบบโควิด19 เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ก็ต้องเข้าอยู่ในขอบข่ายของโควิด19 แม้โรคโควิดจะไม่ได้รุนแรง
“จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำUCEP พลัส ก็คือรองรับคนติดโควิด19และมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิด19จะไม่รุนแรง ซึ่งในวันที่ 17 ก.พ.2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จะมีการหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบUCEP พลัส แต่ในหลักการคือ คนที่ติดโควิด19และมีโรคร่วมเดิม จากนนี้จะกำหนดนิยามของผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ที่โรคร่วมเดิมอะไรบ้างอยู่ที่ข้อสรุปของการหารือ”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด19 จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่รพ.เอกชนใดก็ได้ ก็ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีสิทธิ์รักษาที่รพ.ราชวิถี ก็ไปใช้สิทธิรพ.ราชวิถี ถ้าอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ รพ.ก็จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้านหรือHI แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ่านได้ ก็จะมีระบบดูแลที่โรงแรม(Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสปิเทล
ด้านนพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลกับสายพันธุ์ของโอมิครอน ไม่ว่าจะเป็น BA .1 ,2,3 ,4 และ5 การป้องกันการรักษายังเหมือนเดิม ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และมีระยะห่าง และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3 เพราะการแพร่เชื้อของ สายพันธุ์ BA .2 แพร่เร็วขึ้น แต่ความรุนแรง และการหลบภูมิคุ้มกัน ยังไม่ต่างจาก BA.1 และ องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเฝ้าระวัง ขณะเดียวกัน สธ. คร. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ ยังติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวล คาดว่าความวิตกกังวลของประชาชนในขณะนี้เกิดจากข้อมูลที่มากล้น
“การใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันโรคได้ ดี แม้ว่าโรคนี้จะติดง่าย หรือ สายพันธุ์ไหนก็ตาม เชื้อไวรัสทะลุหน้ากากไปไม่ได้ ส่วนที่มีคนตั้งคำถามแค่พูดคุยกันไม่นาน เพียง 15 นาที ทำไมถึงติดเชื้อ หากใส่หน้ากากกัน ก้ไม่ต้องกังวล เพราะถือว่าความเสี่ยงต่ำ ส่วนอัตราป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ตรงกันข้ามอัตราตายของไทยต่ำกว่า ต้นเดือนที่ผ่านมา จากเดิม 0.22 % เหลือ 0.20 % และถือว่าน้อยกว่าทั่วโลก โดยอัตราตายของทั่วโลก จากเดิมอยู่ที่ 2.2 %ขณะนี้เหลือ 1.4 % แต่คนเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ จึงอยากเชิญชวญให้มารับวัคซีน ขณะเดียวกันบ้านคนหนุ่มสาวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู๋ด้วยก็ขอให้ระวังตนเองให้ดี เพื่อป้องกันคนในบ้านได้รับเชื้อ เนื่องจากสาเหตุการติดเชื้อในผู้สูงอายุมาจากการรับเชื้อจากคนในครอบครัว”นพ.โอภาสกล่าว