อาการข้างเคียง ยาฟาวิพิราเวียร์ เตือนไม่ควรร้องหาถ้าไม่มีอาการโควิด19
อัตราครองเตียงทั่วประเทศ 49 % ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มอาการสีเขียว เผยติดโอมิครอน ไม่มีอาการ/เล็กน้อยราว 90 % สีเหลือง 10 % สีแดง 0.4 % รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่จำเป็น ระวังตับอักเสบ-ตาเปลี่ยนเป็นสีฟ้า
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การใช้เตียงภาพรวมประเทศ ข้อมูล ณ 22 ก.พ.2565 เตียงทั้งหมด 180,208 เตียง ครองเตียง 88,483 เตียง อัตราครองเตียง 49.1 % แยกเป็นระดับ 1 ป่วยน้อยสีเขียว ทั้งหมด 148,219 เตียง ครองเตียง 82,523 เตียง อัตราครองเตียง 55.7 % ป่วยหนักสีส้ม ระดับ 2.1 ทั้งหมด 24,234 เตียง ครองเตียง 4,882 เตียง อัตราครองเตียง 20.1 % ระดับ2.2 ทั้งหมด 5,592 เตียง ครองเตียง 676 เตียง อัตราครองเตียง 12.1% และป่วยวิกฤต ระดับ 3 ทั้งหมด 2,163 เตียง ครองเตียง 402 เตียง อัตราครองเตียง 18.6%
“จะเห็นว่าเตียงที่อยู่ในรพ. ส่วนใหญ่อาการไม่หนักเป็นกลุ่มสีเขียว หมายความว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็ยังมีเตียงรองรับได้อยู่ สัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิดปัจจุบัน แบ่งตามกลุ่มสี คือ สีเขียวอาการน้อยเกือบ 90% สีเหลือง มีอาการปานกลาง 10% และสีแดง มีอาการรุนแรง 0.4 %”นพ.ณัฐพงศ์กล่าว
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้แนวทางรักษาจะเป็น HI ก่อน ซึ่งต่างจากระลอกก่อนที่เป็นเดลตามีความรุนแรงมากกว่า เนื่องจากประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 80% และมีความระวังตัวมากขึ้น ใส่ใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งตัวโรคก็เบาลง หากเป็นผลบวก ATK ไม่ต้องทำ RT-PCR ซ้ำก็สามารถเข้า HI ได้ทันที ซึ่งจะมีอุปกรณ์ และอาหาร มีแพทย์ติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เมื่ออยู่บ้านครบ 10 วันก็จบการรักษา อีกส่วนคือ ผู้ป่วยที่อยู่ รพ. 3-5 วันแล้วอาการดีขึ้น แพทย์จะประเมินว่าให้กลับมา HI ได้เพื่อหมุนเวียนเตียงให้รายอื่น
กรณีผู้ติดเชื้อที่ HI แล้วมีอาการมากขึ้น จำเป็นต้องนำส่งรพ. มีเกณฑ์ที่แพทย์จะพิจารณาดังนี้ 1.ไข้สูงมากกว่า 39 องศาต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที 3.ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94% 4.โรคประจำตัวกำเริบ บางรายอาการโควิดเบามาก แต่อาการของโรคร่วมกำเริบจึงต้องนำเข้ารพ. และ 5.สำหรับเด็ก จะมีอาการซึมลง ดื่มนมน้อย
“ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งอาจยังมีความเข้าใจผิดในกลุ่มประชาชน ผู้หวังดี จิตอาสา มาขอยาให้ผู้ติดเชื้อ ซึ่งแนวทางปัจจุบันออกมาแล้วว่า ผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ เว้นมีความเสี่ยง แต่พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรวันละ 180 แอนโดรกราโฟไลด์ติดต่อกัน 5 วัน และไม่แนะนำให้รับประทานคู่กันเพราะอาจเกิดภาวะตับอักเสบได้ ดังนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้จำเป็นกับผู้ติดเชื้อทุกราย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ติดโควิดที่ไม่มีอาการ แล้วรับยาฟาวิพิราเวียร์จะส่งผลอย่างไร นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การกินยาฟาวิพิราเวียร์ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ที่กลัวคือ ตับอักเสบ แม้จะเกิดขึ้นไม่มากแต่ก็เกิดได้ รวมถึงกรณีที่มีดวงตาเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ฉะนั้นหากไม่มีอาการก็ไม่มีความจำเป็น ยิ่งกินคู่กับฟ้าทะลายโจร ทำให้มีอาการขึ้นมา ฉะนั้น ต้องซักประวัติก่อนว่า รับยาฟ้าทะลายโจรมาแล้วหรือไม่ ต้องหยุดก่อน ไม่กินคู่กัน
เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มเขียว ที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า คนไม่มีอาการ และไม่ได้รับยา ถ้าวินิจฉัยเร็วก็ต้องรอดูอาการอีก 2-3 วัน หากยังไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิราเวียร์ ที่ผ่านมาเราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไปมาก ทำให้คนเข้าใจว่าต้องกินยา คนเรียกร้องเข้ามาผ่าน 1330 เพราะต้องการยา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งยังเน้นย้ำว่า หากเป็นอาการเล็กน้อย ให้รักษาตามอาการ
“ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหายเองได้ ไวรัสวันนี้เหมือนไข้หวัด แต่ที่ผ่านมา เดลตามีความรุนแรง ไม่มีภูมิต้านทาน ก็ลงปอด ยิ่งมีโรคประจำตัว ก็แย่ลง แต่ขณะนี้รู้แล้ว ตัวมันเองก็รุนแรงน้อยลง และเรามีภูมิต้านทานด้วย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว