เปิดสถานะการเงินรพ.สธ. หลังดูแลบริการโควิด19 มา 2 ปี
2 ปี โควิด19 รพ.สธ.ดูแลให้บริการ ส่งผลโรงพยาบาลทุกแห่งพ้นวิกฤติการเงินระดับ 7 หลังปัญหาสั่งสมมานานร่วม 10 ปี เคยวิกฤติมากสุดถึง 136 แห่ง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(รพ.สธ.) มีภาวะวิกฤติทางการเงิน ในส่วนของเงินบำรุง โดยจัดอยู่ในภาวะวิกฤติระดับ 7 จำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็กและอยู่ในสถานที่ห่างไกลเพราะได้รับการจัดสรรงบประมาณตามฐานประชากร
แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมาคือในปี 2564 และ 2565 มีการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโควิด19 มีงบประมาณไหลเข้าไปได้บ้างทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น โดยมีโรงพยาบาลวิกฤติการเงินระดับ 6 ในปี 2563 จำนวน 39 แห่ง ส่วนปี 2564 ลดลงเหลือ 8 แห่ง และไตรมาสแรกปี 2565 ไม่มีแล้ว
ส่วนวิกฤติระดับ 7 ในปี 2563 จำนวน 15 แห่ง ปี 2564 จำนวน 1 แห่ง และไตรมาสแรกปี 2565 ไม่มี และรพ.ที่มีสถานะการเงินที่เรียกว่าค่อนข้างดีในไตรมาสแรก ปี 2565 จำนวน 829 แห่ง คิดเป็นประมาณ 92 % จากรพ.สธ.จำนวน 900 แห่ง
ส่วนวิกฤติทางการเงินระดับ 1-5 พบว่า
- ระดับ 1 ปี 2564 จำนวน 129 แห่ง ปี 2565 จำนวน 54 แห่ง
- ระดับ 2 ปี 2564 จำนวน 48 แห่ง ปี 2565 จำนวน 13แห่ง
- ระดับ 3 ปี 2564 จำนวน 17 แห่ง ปี 2565 จำนวน 1 แห่ง
- ระดับ 4 ปี 2564 จำนวน 8 แห่ง ปี 2565 จำนวน 3 แห่ง
- ระดับ 5 ปี 2564 จำนวน 4 แห่ง ปี 2565 ไม่มี
ข้อมูลภาวะวิกฤติการเงินระดับ 6 และ 7 ของรพ.สธ.ตั้งแต่ปี 2554 – 2563 พบว่า
- ปี 2554 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 115 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 15 แห่ง
- ปี 2555วิกฤติระดับ 7 จำนวน 123แห่ง ระดับ 6 จำนวน 17 แห่ง
- ปี 2556 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 58 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 10 แห่ง
- ปี 2557 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 78 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 17 แห่ง
- ปี 2558 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 136 แห่ง ระดับ 6 จำนวน33 แห่ง
- ปี 2559 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 119 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 22 แห่ง
- ปี 2560 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 87 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 124 แห่ง
- ปี 2561 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 42 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 99 แห่ง
- ปี 2562 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 17 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 79 แห่ง
- ปี 2563 วิกฤติระดับ 7 จำนวน 15 แห่ง ระดับ 6 จำนวน 39 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อราว ปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขออกมาสะท้อนปัญหาสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(รพ.สธ.) พบว่ามีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในภาวะวิกฤติระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับวิกฤติสูงสูดจำนวนมาก
ก่อนที่ต่อมาจะระบุถึงปัญหาเรื่องนี้เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ
1.โรงพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และประชากรในพื้นที่น้อย จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองน้อย เนื่องจากงบส่วนนี้จะได้รับจากการนำจำนวนประชากรในพื้นที่ คูณด้วยงบฯรายหัวต่อคนต่อปี
2.การบริหารจัดการงบประมาณไม่ดี แม้จะรับผิดชอบประชากรมากกว่า 30,000 คน แต่สถานะทางการเงินยังแย่ และ
3.ในพื้นที่เดียวกันมีรพ.ขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้เกิดการแบ่งเงินและทรัพยากร