ฝุ่น "PM 2.5" หนึ่งในตัวการทำให้ "โลกร้อน"
ช่วงนี้ “ฝุ่น PM 2.5” เริ่มกลับมาอีกครั้งทั้งใน กทม. และในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือ นอกจากนี้ “ฝุ่นจิ๋ว” เหล่านี้ยังเป็นตัวการทำให้โลกร้อนอีกด้วย
ในช่วงเดือน เม.ย. ถือว่าเป็นช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เริ่มกลับมาปกคลุมท้องฟ้าอีกครั้งซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงบรรยากาศที่ขะมุกขมัว มืดครึ้มเกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการสังเกตการณ์เก็บข้อมูลความรุนแรงของปัญหาหมอกควันภาคเหนือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนขึ้นทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศร้อนและแห้งแล้ง ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศร้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
นอกจากนี้แม้ว่าโดยปกติแล้วปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือจะเริ่มคลี่คลายช่วงหลังสงกรานต์ และคุณภาพอากาศจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในเดือน พ.ค. แต่ก็ต้องคอยตรวจสอบด้วยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่
จากรายงานของมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่าหากเกษตรกรไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดในประเทศไทยใช้วิธีเผาตอซังข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จะก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 6.25 ล้านตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ 1.32 ล้านคันปลดปล่อยในระยะเวลา 1 ปี จึงแนะนำให้เกษตรกรหันไปใช้วิธีการฝังกลบตอซังข้าวโพดแทนการเผา นอกจากจะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ซ้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน และลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการซื้อปุ๋ย
- เข้าใจสาเหตุ "ฝุ่น PM 2.5"
"PM" ย่อมาจาก "Particulate Matters" คือฝุ่นละอองในอากาศที่มีอนุภาคเล็กมาก มีหน่วยเป็นไมครอน PM 2.5 คือหน่วย PM ที่มีขนาด 2.5 ไมครอน ส่วน PM10 จะมีขนาด 10 ไมครอน ด้วยความที่ฝุ่นเหล่านี้มีขนาดเล็กมาก เราจึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรอก แต่เมื่อมันรวมตัวกันมากๆ เราก็จะเห็นอย่างในช่วงนี้ ฝุ่นเริ่มเกาะตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนและล่องลอยอยู่ในอากาศจนเห็นได้ชัดเลยทีเดียว
สาเหตุส่วนใหญ่ของ PM 2.5 เกิดมาจากการเผาไหม้ของท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงในโรงงาน เป็นต้น และความสามารถที่ล้ำขึ้นไปอีกคืออนุภาคของพวกมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆที่ลอยอยู่ในอากาศได้ด้วย อย่าง สารไฮโดรคาร์บอนและโลหะหนัก เป็นต้น
ที่สำคัญ แม้ว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำได้ยากและซับซ้อน แต่เราก็ควรแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กันไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะยังมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเป็นมิตรรวมถึงลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเผชิญอยู่