ผิดคาด! ผลศึกษาพบ ภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด19 ต่อสายพันธ์ย่อยBA.2-BA.1
กรมวิทย์เผยผลศึกษาภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด19 พบจัดการโอมิครอนBA.2ได้สูงกว่า BA.1 ย้ำเข็ม3สูงกว่าเข็ม2 ในทุกสูตร ขอประชาชนเข้ารับเข็มกระตุ้น ขณะที่ตอนนี้ BA.2เป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในไทยกว่า 95%
เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ประเด็น "ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ย่อย BA.2 " นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน ด้วยวิธีมาตรฐานโลก โดยการเอาภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดมาสู้กับไวรัสเป็นๆ คือ โอมิครอนBA.2 ที่เพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงพอในการศึกษา และเอาน้ำเลือดมาเจือจางเป็นเท่าๆไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่ฆ่าไวรัสได้ครึ่งหนึ่งก็จะเป็นจุดที่หยุด เช่น หากเจือจางไป 100 เท่าแล้วฆ่าไวรัสได้ครึ่งหนึ่ง ไตเตอร์ก็จะเท่ากับ100 ซึ่งการตร ซึ่งต้องทำในห้องปฏิการวิทยาศาสตร์(แล็ป)ที่มีความปลอดภัยระดับ3เท่านั้น ปัจจุบันมีที่กรมวิทย์ที่เดียว ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน
"ผลเบื้องต้นพบว่า คนที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าสูตรใดและทั้งการฉีด2เข็มและ3เข็มปรากฎว่าภูมิคุ้มกันลบล้างไวรัสโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 สูงกว่า BA.1 แปลว่าภูมิจัดการ BA.2 ได้มากกว่า BA.1 ดังนั้น ที่กังวลว่า BA.2 จะหลบภูมิวัคซีนได้มาก น่าจะไม่จริง ซึ่งการศึกษานี้ใช้เลือดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ ช่วงที่ภูมิฯน่าจะขึ้นสูง” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนBA.2 หลังรับวัคซีน 2 สัปดาห์
กรณีวัคซีน 2 เข็ม
ซิโนแวค+แอสตราเซนเนก้า อยู่ที่ 17.09
แอสตราฯ 2 เข็ม อยู่ที่ 92.66
ไฟเซอร์2 เข็ม อยู่ที่ 59.06
ซิโนแวค+ไฟเซอร์ อยู่ที่ 95.98
แอสตราฯ+ไฟเซอร์ อยู่ที่ 84.48
กรณี 3 เข็ม
ซิโนแวค 2เข็ม+แอสตราฯ 184.6
ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ 489.4
แอสตราฯ2เข็ม+ไฟเซอร์ 351.1
ซิโนแวค+แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ 270.7
ซิโนแวค+ แอสตราฯ +แอสตร้าฯ 84.6
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า แม้ภูมิฉีด 2 เข็มจะจัดการ BA.2 ได้สูงกว่าBA.1 แต่ภูมิ 2 เข็มขึ้นมาไม่ได้มากนัก เพราะฉะนั้น หากมีการฉีด 2เข็มมานานภูมิจะตกลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม
หรือบูสเตอร์ ภูมิสูงกว่า จึงเป็นสาเหตุต้องให้มาฉีดเข็ม 3 อย่างเช่น หากเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน คนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มภูมิแทบไม่เหลือเฉลี่ย 11 นิดๆ โดยจุดตัดที่เริ่มป้องกันได้อยู่ที่ 10 ส่วนแอสตราฯ2เข็ม ประมาณ 26 หากผ่านไป3-4 เดือนก็จะเหลือน้อยลงอีก แต่หากถูกบูสด้วยเข็มที่ 3 เช่น ซิโนแวค 2 เข็มด้วยด้วยแอสตราฯ อยู่ที่ 61 หรือไฟเซอร์ อยู่ที่ 94 ซึ่งถือว่าสูงอยู่ในระดับที่พอจะช่วยป้องกันโรคได้ ส่วนกรณีแอสตราฯ 2เข็มตามด้วยไฟเซอร์หากผ่านไปนาน 3 เดือนจะเป็นอย่างไร จะค่อยๆทยอยศึกษาและแจ้งผล เนื่องจากในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนหลากหลายสูตร
ภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน 1 เดือน
ซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ 11.21
แอสตราฯ 2 เข็มอยู่ที่ 26.28
ซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตราฯ อยู่ที่ 61.28
ซิโนแวค 2เข็ม+ไฟเซอร์ อยู่ที่ 94.68%
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับของเชียงใหม่ที่ศึกษาแบบเรียลเวิลด์ พบว่า 2 เข็มช่วยไม่ได้มาก แต่บูสเตอร์จะช่วยป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะลดการเสียชีวิต นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคมีข้อมูลตัวเลขจริง กรณีคนที่เสียชีวิตต่อล้านคนมาเทียบ พบว่าคนไม่ฉีดวัคซีนเสียชีวิต767 ต่อล้านคน ขณะที่ฉีดวัคซีน 1 เข็มเหลือเสียชีวิต 366 ต่อล้านคน เมื่อฉีด 2 เข็ม เหลือ 145 ต่อล้านคน แต่เมื่อฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็น 3 เข็มจะพบเสียชีวิต 25 ต่อล้านคน หรือเสียชีวิตลดลง 31 เท่า ส่วนฉีด 4 เข็มยังมีการฉีดน้อย1-2แสนยังไม่มีใครเสียชีวิตเลย ข้อมูลนี้ยืนยันได้ว่า ใครที่ลังเล หรือรับข้อมูลสร้างความสับสน ทำให้ไม่อยากฉีดวัคซีน กรุณาดูข้อมูลตรงนี้ และเลือกว่าจะเสี่ยงอย่างไร ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง ตัวเลขไม่ได้โกหกใคร
" สรุปคือ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ดีกว่า BA.1 จึงอย่ากังวลว่า BA.2 เต็มประเทศจะทำให้ภูมิแย่ลง ซึ่งข้อมูลชัดว่า สู้ได้ ส่วนคนที่ฉีด 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย หรือแม้แต่ไวรัลแวกเตอร์ เกิน 1 เดือน ภูมิต่อ BA.2 ลดลงมากพอสมควร จึงควรมาฉีดกระตุ้น ยิ่งหากฉีดนานแล้วยิ่งต้องมาฉีด ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เสนอเรื่องนี้เข้าไปด้วย ซึ่งโดยหลักการฉีดบูสเตอร์ดีๆ ต้องเว้นระยะพอสมควร อย่างเข็ม 2 แล้วทิ้ง 1 เดือนไปฉีดเข็ม 3 อาจไม่ดีพอ แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี เพราะวัคซีนบางชนิดทำภูมิตกเร็ว จะรออาจช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อมูลให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่า อาจเป็นเงื่อนไข 1-3 เดือนหรือไม่ และต้องการให้ภูมิฯสูงเร็วขึ้น เป็นต้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์เฝ้าระวังสายพันธุ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาชัดเจนว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยเป็นโอมิครอน BA.2 ขึ้นไปถึง 95.9% เหลือ BA.1 แค่ 4% ดังนั้น ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์จะเป็นBA.2เกือบ 100% เพราะแพร่เร็วกว่า ส่วนเดลตาแทบไม่เหลือในบ้านเราแล้ว
ถามว่าผลการทดสอบภูมิฯ ที่พบว่าคนฉีดวัคซีน 3 เข็มป้องกัน BA.2 ได้ดีกว่า BA.1 ในขณะที่ BA.2 เริ่มครองตลาดเกือบ 100% เป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุที่ทดสอบกับ BA.2 เพื่อให้เห็นว่าภูมิฯ จัดการได้จริง ข้อสรุปชัดว่า ฉีด 2 เข็มไม่เพียงพอ ต้องกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแค่ 35% ที่อยากได้ให้ถึง 80% ฉะนั้น ขอให้ทุกคนมารับเข็มกระตุ้นให้ประเทศปลอดภัย
เมื่อถามต่อว่ามีการทดสอบกับสายพันธุ์ XE ที่เป็นการผสมกันระหว่าง BA.1 และ BA.2 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการติดเชื้อในสายพันธุ์ที่พบมากเป็น BA.2 จึงมีข้อมูลในส่วนนี้เพียงพอ ส่วนสายพันธุ์อื่นก็จะติดตามเพิ่มเติม แต่เท่าที่ดูขณะนี้ยังไม่น่ากังวล ยิ่งเดลตากับโอมิครอน ก็คาดว่าจะจบเกมส์แล้ว เพราะเดลตาก็แทบไม่มีแล้ว แต่จะมีอีกโอกาสคือ เดลตาบวกกับโอมิครอนแล้วมีอิทธิฤทธิ์ขึ้น ก็อาจจะกลับมาได้ แต่หากไม่มีอิทธิฤทธิ์ ก็อาจจะหายไปในที่สุด
ด้านนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาในอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ อาเจนตินา ที่รอการตีพิมพ์ เปิดเผยข้อมูลว่า วัคซีนชนิด2เข็มและ3 เข็ม ภูมิต่อโอมิครอนทั้งBA.1และBA.2 พบว่า กรณี 2 เข็มภูมิต่อโอมิครอนไม่มากนัก แต่ภูมิต่อBA.2 สูงกว่า BA.1 แต่กรณีมีการบูสเตอร์ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเดียวกันหรือต่างชนิด ภูมิต่อโอมิครอนสูงกว่า 2 เข็ม และภูมิต่อBA.2สูงกว่าBA.1 ทุกชนิดวัคซีน สอดคล้องกับการศึกษาของกรมวิทย์ แสดงว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยBA.1และBA.2มีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ต่างกัน
ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจากการหลบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันระหว่างBA.1และBA.2 แล้วยังพบว่าการเพิ่มจำนวนในหลอดทดลองของBA.2 เร็วกว่าBA.1ซึ่งอนุภาคไวรัสของBA.2 ใหญ่กว่าBA.1อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายของ BA.2 เร็วกว่าBA.1 และขอขอบคุณตัวอย่างอาสาสมัครจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ร่วมวิจัยด้วยกัน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยBA.2 ที่แพร่ได้เร็วกว่า BA.1น่าจะหลบภูมิค้มกันวัคซีนโควิด19ได้มาก