พัฒนาโลกให้ยั่งยืนด้วย CE | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ทุกวันนี้ สถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมของไทย ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจของพวกเราทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกากขยะของเสีย ทั้งจากครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งควรจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
การลดปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก” ที่มุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องมือด้านการบริหารจัดการของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “อุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry) ตาม “มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000” และมาตรฐานสากลว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
แม้ว่าในภาพรวมแล้ว ปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมจะลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในวันนี้ยังปรากฏว่ามนุษย์เราก็ยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นทุกที สร้างขยะมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ก็ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มากขึ้นเรื่อย ๆ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบในการผลิต ทำให้คุณภาพชีวิตของเราลดลงจากปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อทรัพยากรมีแต่จะใช้กันหมดไป มนุษย์เราจึงต้องหาวิธีสงวนรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรให้พอมีพอใช้ต่อไปถึงลูกหลานด้วยแนวความคิดของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ดังนั้น นโยบาย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) จึงกลายเป็นพันธกิจที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และต้องช่วยกันผลักดันภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ ในแต่ละประเทศให้ตระหนักถึงความร่วมมือกันในเรื่องนี้
ดังเห็นได้จากการประชุมระดับโลก หรือ World Circular Economy Forum ที่จัดขึ้นบ่อยครั้ง จนมีการประกาศวิสัยทัศน์สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในปี 2050 ร่วมกันของประชาคมโลก
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy : CE) เป็นการออกแบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ หลักการของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นกว้างกว่าเพียงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (recycle) แต่เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ
- ออกแบบสินค้าและบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ
- เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า
- ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบ (negative externalities) ต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
หลักการทั้ง 3 ข้อนี้ ทำให้ระบบการผลิตแบบเดิมหรือระบบการผลิตแบบตรง (Linear economy) ที่เป็นการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (make-use-dispose) และเน้นกำไรเป็นตัวตั้ง ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่เน้นการนำวัตถุดิบจากสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (make-use-return) พัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ
วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ ทำให้สังคมโลกมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs 17 ข้อในปัจจุบัน
ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 12 ว่าด้วยเรื่อง “แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้ “BCG Model” (Bio Economy, Circular Economy and Green Economy) สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นการยืนยันว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสนิยม แต่เป็นความจำเป็นที่ทั่วโลกต่างต้องตระหนักถึงเพื่อระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของประชาคมโลกที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นพันธกิจขององค์กรระดับนานาชาติ ที่ร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ
จึงไม่เพียงแต่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะต้องมีการปรับตัวเท่านั้น แม้แต่เอสเอ็มอีก็ต้องตระหนักและปรับตัวเช่นกัน เพราะหากใครไม่ปรับ โลกก็จะบังคับให้ต้องปรับด้วยมาตรการทางการค้าที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและมลภาวะในรูปแบบของกฎระเบียบต่าง ๆ
ทุกวันนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมจึงต้องพร้อมต่อการลงทุนเพื่อเยียวยาให้สภาพแวดล้อมคืนสู่ภาวะปกติ หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนกิจกรรมและการประกอบการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่นับวันจะทวีความเข้มงวดมากขึ้น
เรื่องที่สำคัญที่สุดในวันนี้ก็คือความจริงที่ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในวันนี้ยอมจ่ายแพงขึ้น เพียงเพื่อซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่า สินค้านั้นผลิตจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครับผม!