ส่อง 6 ปัจจัยทำให้เมืองเปลี่ยน "พัฒนาเมือง" อย่างไร ให้พ้นวิกฤติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเพิ่มขึ้นของประชากร และอีกหลายปัจจัย ส่งผลให้เมืองเปลี่ยน "การพัฒนาเมือง" ให้ตอบโจทย์โลกอนาคต จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องรับมือในวิกฤติที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงและวิกฤติสิ่งแวดล้อมกำลังถาโถมสู่ความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะกับมหานครและเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังประสบกับภาวะวิกฤติสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติต่างๆ และมลภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย การพัฒนาเมือง ในหลายๆ ด้านทั้งปัญหาน้ำท่วม ฝุ่นควัน
ในขณะที่เมืองใหญ่ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับวิกฤติที่ร้ายแรงไม่แพ้กัน ทั้งความผันผวนของฤดูกาล ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน การละลายของธารน้ำแข็ง และภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าในอดีต วิกฤติเหล่านี้กระตุ้นให้เราทุกคนต้องปรับตัว มิใช่แค่ระดับกายภาพ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนในระดับวิธีคิด เพื่อใช้ชีวิตที่มีความยืดหยุ่นในสังคม เพื่อให้สามารถรับมือ ปรับตัว และฟื้นฟูจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติและสภาพสังคมได้อย่างรวดเร็ว
“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” ผู้อำนวยการบริหาร FutureTales Lab ภายในงานเสวนา MQDC Sustainnovation Forum 2022 ภายใต้หัวข้อ “เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤติอย่างไร” จัดโดย บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า 6 ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เมืองเปลี่ยน ได้แก่
“มิติเชิงสังคม” ที่มีการย้ายถิ่นฐาน
“มิติด้านเทคโนโลยี” ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
“มิติด้านเศรษฐกิจ” งานอยู่ที่ไหน คนมักจะอยู่ที่นั้น ขณะเดียวกัน สภาพสังคมก็เปลี่ยนไป เราสามารถทำงานออนไลน์ได้ และไฮบริดได้
“มิติด้านสิ่งแวดล้อม” เกิดการกดดันมากขึ้น อากาศร้อนขึ้น พื้นที่สาธารณะมีภาพที่เปลี่ยนไป
"มิติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง" มีต่างชาติเข้ามาอยู่และตัวเมืองต้องปรับ
"มิติด้านคุณค่าในจิตใจทางสังคมของคน" ว่าเขามองคุณค่าอยู่ที่ไหน จากเดิมมูลค่าอาจจะอยู่ที่ตึกสูง แต่ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปมองในพื้นที่สีเขียวและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่า องค์ประกอบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เมืองเปลี่ยน เพราะเราต้องการพื้นที่อยู่อาศัยเยอะขึ้น ต้องการพื้นที่เพาะปลูก ปศุสัตว์ เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่สีเขียว พื้นที่ป่าไม้ลดลง ทรัพยากรธรรมชาติลดลง ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกมีกว่า 7,000 ล้านคนและอาจจะถึง 10,000 ล้านคนในอนาคต โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ด้านประชากร และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก
ความท้าทายรับมือวิกฤติเมือง
ทั้งนี้ ความท้าทายในการรับมือวิกฤติเมือง “รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) มองว่า สิ่งสำคัญ คือ เราไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ทำให้เราไม่รู้สุขภาพเมือง เป็นข้อมูลขาดๆ เกินๆ เป็นโจทย์สำคัญ ที่ว่าทำไมเราไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ได้ เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ และไม่สามารถให้กระบวนการแก้ปัญหาได้เพราะไม่มีข้อมูล
ในต่างประเทศหลายเมือง ผู้บริหารเมืองมี Vision และกล้าที่จะผิดพลาด การกล้าที่จะผิดพลาดเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ในเมืองเฮลซิงบอร์ก สวีเดน นายกเทศมนตรีของเมืองให้รางวัลกับทีมที่แก้ปัญหาเมืองได้ และให้รางวัลกับทีมที่พลาดไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เหตุผลเพราะการที่ยอมรับได้ว่าการผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนที่คิดกล้าคิด กล้าเสนอ และไม่ถูกลงโทษจากความผิดพลาด แต่ให้เงินรางวัลไปคิดต่อ เป็น Vision ของการพัฒนา
รับมือการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการรับมือเมืองที่เปลี่ยนไป รศ.ดร.สิงห์ มองว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีหายนะรออยู่ ดังนั้นการรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต ต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ RISC ได้จัดทำแนวทาง “Resilient Framework” ในการเตรียมตัว สร้างสมาร์ทซิตี้ โดยการวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ล่วงหน้า เช่น น้ำท่วม ฯลฯ และหาแนวทางป้องกันปัญหาได้ในการสร้างอาคาร นำ "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ( Geographic Information System ) GIS มาใช้ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติ
มีการศึกษาผ่าน RISC 5 Research Hubs ได้แก่
1. Plants & Biodiversity: ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ
2. Air Quality: ศึกษาปัจจัยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร
3. Happiness Science: ศึกษาการทำงานของสมองเพื่อสร้างความสุขด้วยวิทยาศาสตร์
4. Materials & Resources: ศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาวะ
5. Resilience: ศึกษาด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมเพื่อวางแผนรับมือ
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) ที่ศึกษาวิจัย คาดการณ์อนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมือง เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนตามยุคสมัยใหม่ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด
รวมถึง ครีเอทีฟ แล็ป (Creative Lab by MQDC) ซึ่งจะทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของมนุษย์ เพื่อนำเสนอนวัตรกรรมของการออกแบบประสบการณ์ (Experience Innovation) ไปจนถึงวิธีคิดทางธุรกิจแบบใหม่ ๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างกลุ่มบริษัทอีอีซี เป็นวิศวกรที่ปรึกษาชั้นแนวหน้าที่มีผลงานทั้งในและต่างประเทศมามากกว่า 46 ปี รวมทั้ง The Forestias และล่าสุดได้ร่วมทุนกับ MQDC และ B Grimm จัดตั้งบริษัท Unisus Green Energy เป็นธุรกิจ Green Energy ซึ่งจะช่วยลดวิกฤติภูมิอากาศโลกอีกด้วย