‘ซิสโก้’ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจมุ่ง 'แพลตฟอร์ม คอมปะนี'
‘ซิสโก้’ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ สู่ “แพลตฟอร์ม คอมปะนี” มุ่งช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รองรับการทำงานแบบไฮบริด คลาวด์ สกัดภัยไซเบอร์ป่วนการดำเนินงาน ทำสูญเสียรายได้ ทำลายชื่อเสียงองค์กร ล่าสุดเผยโฉมเครื่องมือใหม่ช่วยเอสเอ็มอีลดเสี่ยงบนไซเบอร์
นายเดฟ เวสต์ ประธานกรรมการเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ซิสโก้ ซีสเต็มส์ กล่าวว่า แนวทางธุรกิจของซิสโก้จากนี้มุ่งทรานส์ฟอร์มไปเป็น “แพลตฟอร์ม คอมปะนี” เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ของซิสโก้ มุ่งทำให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อ มีความปลอดภัย ทำงานได้แบบอัตโนมัติ ขณะเดียวกันมีความคล่องตัวด้านดิจิทัลและโลกแห่งคลาวด์เฟิร์ส ควบคู่ไปกับปูทางสร้างความยั่งยืนทั้งเชิงธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
ซิสโก้ระบุว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา การใช้บริการบนดิจิทัลเติบโตกว่า 30% สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จากการคาดการณ์ของมอร์แกนสแตนเลย์พบว่า เมื่อถึงปี 2568 ตลาดซูเปอร์แอปจะมีมูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่ประเทศไทย กูเกิลระบุว่า 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเคยมีประสบการณ์ใช้บริการบนดิจิทัล ประเมินขณะนี้กล่าวได้ว่าเกิดความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านประสบการณ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ บิสเนสโมเดลใหม่ รวมถึงโอกาสใหม่ๆ บนโลกไอที
เขากล่าวว่า การสร้างความสำเร็จธุรกิจยุคใหม่ต้องมีการสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ รองรับการทำงานแบบไฮบริด การใช้งานคลาวด์ และที่สำคัญอย่างมากคือความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์
ล่าสุด ซิสโก้ได้เปิดตัว “เครื่องมือสำหรับการประเมินผลไซเบอร์ซีเคียวริตี้” เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยประเมินความพร้อมและมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร ภายใต้กลยุทธ์ “Zero Trust” แนวคิดที่ไม่มีการอนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายขององค์กรในทุกกรณีจนกว่าจะผ่านการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ
โดยเบื้องต้น เครื่องมือดังกล่าวจะประเมินระดับความพร้อมขององค์กรใน 6 ด้านได้แก่ ผู้ใช้และการระบุอัตลักษณ์, อุปกรณ์, เครือข่าย, เวิร์กโหลด (แอปพลิเคชั่น), ข้อมูล และการดำเนินการด้านความปลอดภัย
นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การปรับใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวางหมายถึงความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อนำเสนอแอปพลิเคชันและนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการทำงานแบบไฮบริด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์กรได้รับการปกป้องอย่างรอบด้าน
ผลการศึกษาของซิสโก้เกี่ยวกับความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของเอสเอ็มอี ระบุว่า กว่าสามในสี่ (76%) ของเอสเอ็มอีในไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว
ขณะที่ สองในสาม (65%) หรือของเอสเอ็มอีในไทยพบเจอภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และราวครึ่งหนึ่ง (46%) ระบุว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อธุรกิจคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 5 แสนดอลลาร์
โดยสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพราะว่า โซลูชั่นไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอที่จะตรวจจับหรือป้องกันการโจมตี และการโจมตีเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะป็นทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก สูญเสียรายได้ รวมถึงทำลายชื่อเสียงขององค์กร
“ไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นหนึ่งในโฟกัสที่สำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ที่มีรูปแบบการทำงานไฮบริด เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยจากทุกที่ ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย การทำงานรูปแบบใหม่นี้ส่งผลให้เกิดช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะอยู่นอกขอบเขตเครือข่ายที่องค์กรสร้างขึ้นเพื่อปกป้องธุรกิจของตนเอง”