สภาฯผู้บริโภคประกาศรวบรวมชื่อยื่นค้านดีลควบรวม"ทรู-ดีแทค"
ผู้บริโภคฯพร้อมยื่น 10,000 รายชื่อประสานเสียงคัดค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทคสุดตัว ระบุกสทช.ต้องฟังเสียงประชาชนอย่ายึดผลประโยชน์เอกชน ชวนสังคมจับตาการประชุมบอร์ดวันพรุ่งนี้หลังรับรายงานจากสสำนักงานฯก่อนชี้ชะตาดีลวันที่ 10 ส.ค.2565
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ Consumer Forum ep:3 ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ ว่า ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หลังจากที่บอร์ดรับรายงานสรุปจากสำนักงานกสทช.หลังจากที่อนุกรรมการทั้ง 4 ชุดได้สรุปข้อคิดเห็นต่อการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
โดยสภาฯผู้บริโภคได้จัดเวทีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 และก็ขอยืนยันในจุดยืนเดิมคือ เราไม่เห็นด้วยต่อดีลกาารควบรวมครั้งนี้ และขอคัดค้านไม่ให้กสทช.อนุญาตให้เอกชนควบรวมธุรกิจ โดยในวันพรุ่งนี้ที่มีการประชุมบอร์ดเรื่องดังกล่าว สภาฯผู้บริโภคจะยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อที่คัดค้านกาารควบรวมดังกล่าวต่อดีลครั้งนี้
และขอเรียกร้องให้ประชาชน พลเมืองเน็ตร่วมกันลงชื่อในการคัดค้านดังกล่าวที่เว็บไซต์ change.org โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าวแล้ว 9,000 กว่ารายชื่อ
เธอ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่เราคัดค้านมาตลอด เพราะผู้บริโภคได้รับผลกระทบในวงกว้าง ควรต้องมีคนรับผิดชอบ หากนำเอาค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ปัจจุบันที่ 220 บาทต่อเดือน แต่เมื่อดูจากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการรายงานออกมาพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นแพงขึ้นแน่นอน
จากกรณีที่มีหลายฝ่ายโจมตีการทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ทำไมพยายามคัดค้านแต่ประเด็นการควบรวมระหว่าง True และ dtac ก็เพราะว่า หากการควบรวมแล้วเสร็จจะทำให้มาร์เก็ต แชร์ในตลาดเพิ่มเป็น 50% ซึ่งเท่ากับเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และที่ผ่านมาเอกชนพยายามอ้างว่ากสทช.ไม่มีอำนาจไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งที่จริงหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องยืนยันว่ากสทช.มีอำนาจที่ได้รับมาตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ในประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB นั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคก็พร้อมตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นกัน
คำถามจากสังคมว่าทำไมต้องคัดค้านการควบรวมทรูดีแทค ก็เพราะการควบรวมนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสี่ยงต่อการผูกขาดโครงสร้าง และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สารี กล่าวอีกว่า ยังเพิ่มความเสี่ยงในการผูกขาดโครงสร้างต่าง ๆ นั้น เป็นผลกระทบที่เกิดการที่บริษัทใด บริษัทหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดธุรกิจโทรคมนาคม จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดบริการ หรือผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยากขึ้น อินเทอร์เน็ตจะช้าลง และผู้ใช้บริการทุกกลุ่มจะมีต้นทุนสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการผูกขาดทางเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย เนื่องจากต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลที่สูงขึ้น ข้อมูลมีราคาแพง ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย