อย่าละเลย “บิ๊กดาต้า” ปรับระบบบริหารประเทศ
รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เทียบเท่าในต่างประเทศ ที่ใช้การประมวลผลบิ๊กดาต้าช่วยวิเคราะห์นโยบายสาธารณะต่าง ๆ ได้ผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษณ์ที่สามารถวัดผลได้ดี
โลกปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยบิ๊กดาต้าไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจมีความชัดเจนและให้ความสำคัญมานานแล้วในการกำหนดแผนธุรกิจที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลด้วยเครื่องมือต่าง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และในปัจจุบันที่ธุรกรรมต่าง ๆ ถูกดำเนินการผ่านออนไลน์ยิ่งทำให้ข้อมูลในการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจมีเพิ่มขึ้นมาก จึงไม่แปลกใจที่บรรดาบิ๊กคอร์ปต่างลงทุนอย่างเต็มที่กับระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่โอกาสทางธุรกิจมหาศาลทั้งผู้ใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า รวมถึงผู้ที่ลงทุนระบบจัดเก็บข้อมูลตลอดทั้งซัพพลายเชนไปจนถึงการให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบิ๊กดาต้าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และเกิดการแบ่งชิงบิ๊กดาต้าผ่านกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดในหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้บริโภคยอมเปิดเผยข้อมูลหรือจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีการนิยามว่าบิ๊กดาต้า เป็นอีก 1 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
การบริหารราชการแผ่นดินยุคใหม่ในหลายประเทศล้วนใช้บิ๊กดาต้าในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นนโยายเกี่ยวกับสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารด้านการคลัง การจัดเก็บภาษี รวมไปถึงการจัดการข้อมูลด้านความมั่งคงของประเทศหรือการทหาร เพราะช่วยให้รัฐบาลคาดการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำมากขึ้น และนำไปสู่การบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีที่การดำเนินการหลายส่วนนำบิ๊กดาต้ามาใช้ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เทียบเท่าเหมือนในต่างประเทศ ในขณะที่การจะก้าวไปสู่จุดดังกล่าวจะต้องมีการปฏิรูปข้อมูลภาครัฐเข้าสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างคลาวด์ของภาครัฐที่ใช้งานร่วมกันที่นอกจากจะเป็นการรวมข้อมูลไว้ด้วยกันแล้วยังช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างระบบจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน เพื่อใช้เครือข่ายการประมวลผลร่วมกันได้
หากการประมวลผลบิ๊กดาต้าของภาครัฐมีความสมบูรณ์ก็จะทำให้วิเคราะห์ได้ว่านโยบายสาธารณะแต่ละนโยบายได้ผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษณ์ที่สามารถวัดผลได้ดี ยกตัวอย่างการที่รัฐบาลกำลังผลักดันนโยบายประกันรายได้ข้าวปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ใช้วงเงินประกันราคาข้าวรวมกับโครงการที่เกี่ยวข้อง 150,000 ล้านบาท ก็จะประมวลผลได้ว่าควรทำต่อหรือไม่หลังจากที่ปีนี้จะใช้งบประมาณจำนวนมาก และนี่คือสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น