ฮีโร่ vs ตัวร้าย? AI แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือยิ่งทำให้แย่ลง

ฮีโร่ vs ตัวร้าย? AI แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือยิ่งทำให้แย่ลง

เอไอ ‘ฮีโร่’ หรือ ‘ตัวร้าย’ ในสงครามความเหลื่อมล้ำ? กรุงเทพธุรกิจชวนหาคำตอบผ่านมุมมองของนักอนาคตวิทยาระดับโลก

เรากำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังแทรกซึมเข้าสู่ทุกแง่มุมของชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเครื่องจักรอัจฉริยะกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตและการทำงานของเรา

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นมีหลายด้าน แต่คำถามที่มักถกเถียงกันในสังคมอยู่เสมอคือ เอไอจะแทนที่คนหรือไม่? หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานของแรงงานมนุษย์หรือเปล่า? ท้ายที่สุดแล้ว เอไอจะช่วยให้เราสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดของโลกได้อย่างแท้จริงใช่หรือไม่

คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เอไอสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการเข้าถึงบริการพื้นฐานและโอกาสที่จะช่วยให้ผู้คนพัฒนาชีวิตของตนเองได้

ในทางกลับกัน คนอีกกลุ่มเชื่อว่า เอไอจะยิ่งทำให้ปัญหาที่คนจนและผู้ด้อยโอกาสเผชิญอยู่แย่ลง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ คนรวยมีโอกาสเข้าถึงเอไอมากกว่าคนจน นี่ยิ่งทำให้ปัญหากลับเลวร้ายกว่าเดิม 

แล้วใครถูกกันแน่? - นี่คงเป็นคำถามที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เรามาดูทั้งสองด้านของการโต้แย้งกัน

ทำไมเอไออาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น?

เบอร์นาร์ด มาร์ นักอนาคตวิทยาระดับโลก ผู้เขียนหนังสือ Generative AI in Practice: 100+ Amazing Ways Generative Artificial Intelligence is Changing Business and Society อธิบายผ่านบทความของเขาไว้ว่า ผู้ที่กังวลว่าเอไอจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้น มีเหตุผลหลายประการ ดังนี้

1) เทคโนโลยีเอไอกระจุกในมือคนรวย

การเข้าถึงเทคโนโลยีเอไอมักกระจุกตัวอยู่ในมือของคนรวยอยู่แล้ว งานวิจัยพบว่า คนที่ยากจนกว่ามักขาดการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากเอไอ 

นอกจากนี้ ระบบเอไอส่วนใหญ่ถูกพัฒนาและเป็นเจ้าของโดยบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่ร่ำรวย ซึ่งควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ และข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจของเอไอมักเข้าถึงได้ง่ายที่สุดโดยผู้ที่มีทรัพยากรในการเก็บรวบรวม จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูล

ดังนั้น คนที่ไม่ “Trust” ในเอไอ มักตั้งคำถามว่า “เราจะสร้างระบบนิเวศเอไอที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้สำหรับทุกคนได้อย่างไร?”

2) ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

งานที่มีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติมักเป็นงานที่มีรายได้ต่ำ เช่น พนักงานศูนย์บริการลูกค้า คนขับรถส่งของ และเจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล แล้วเราจะเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

แม้ World Economic Forum คาดการณ์ว่าจะเกิดงานใหม่ๆ สำหรับผู้ที่ตกงานจากระบบอัตโนมัติ แต่งานเหล่านี้อาจเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น ต้องการการศึกษาและการฝึกอบรม ซึ่งอาจเกินกำลังของผู้ที่มีทรัพยากรจำกัด

3) อคติที่แฝงในเอไอ

ระบบเอไอเรียนรู้จากข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ ซึ่งอาจมีอคติแฝงอยู่ อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่แล้ว เช่น กรณีของ Amazon ที่ต้องยกเลิกอัลกอริทึมเอไอสำหรับคัดเลือกผู้สมัครงาน หลังพบว่าอาจเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครหญิงสำหรับงานด้านเทคนิค 
เอไอจะช่วยให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้นได้อย่างไร?

เบอร์นาร์ด ยังอธิบายเพิ่มว่า แม้จะมีความท้าทาย แต่แนวคิดหลักของผู้คนที่เชื่อว่าเอไอจะเพิ่มความเท่าเทียมได้นั้นเชื่อว่า เอไอมีศักยภาพอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำ หากใช้อย่างชาญฉลาด 

  1. ด้านการศึกษา เอไอสามารถปรับแต่งการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน ช่วยให้การศึกษาที่มีคุณภาพสูงเข้าถึงได้ทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และระบบติวเตอร์เอไอที่ราคาไม่แพง
  2. ด้านสุขภาพ เอไอสามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังช่วยในการพัฒนายาและวิธีการรักษาใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
  3. ด้านผลผลิต เอไอสามารถช่วยเกษตรกรในการวิเคราะห์สภาพดิน สภาพอากาศ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
  4. บริการทางการเงิน เอไอช่วยในการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินได้แม่นยำขึ้น ทำให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการแก่กลุ่มคนที่เคยถูกปฏิเสธ เช่น ผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงิน

บทสรุป: ‘เอไอ’ ฮีโร่หรือตัวร้ายในสงครามความเหลื่อมล้ำ

“ไม่มีเทคโนโลยีใดที่ดีหรือเลวโดยธรรมชาติ ศักยภาพในการเป็นประโยชน์หรือสร้างความเสียหายต่อสังคมขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราเลือกใช้มัน การที่เอไอจะส่งผลดีหรือเสียต่อความเท่าเทียมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย” เบอร์นาร์ดกล่าว

เขายังแนะนำแนวทางใช้เอไอให้เกิดประสิทธิภาพต่อสังคมทุกชนชั้นไว้ว่า

  1. ต้องพัฒนาเอไอที่มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ปลอดภัย ไม่มีอคติ โปร่งใส และตรวจสอบได้
  2. บริษัทควรนำเงินบางส่วนที่ได้จากการลดต้นทุนเพราะใช้เอไอมาใช้ในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับผู้ที่อาจตกงาน
  3. รัฐบาลต้องส่งเสริมการพัฒนาเอไอที่มีจริยธรรมและรับผิดชอบ พร้อมทั้งวางกรอบเพื่อจำกัดผลกระทบที่เป็นอันตรายของเทคโนโลยีนี้
  4. ต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ รวมถึงความร่วมมือระดับโลกเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศร่ำรวยจะไม่ได้รับประโยชน์โดยเอาเปรียบประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว หากเราสามารถจัดการกับประเด็นเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เอไออาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงชีวิตของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่มีความมั่งคั่งและอำนาจเท่านั้น

อ้างอิง: Forbes