‘บิล เกตส์’ เปิดปัญหาอันดับหนึ่ง คนรุ่นใหม่รับมือไม่ได้ เสียหายระดับโลก

‘บิล เกตส์’ เปิดปัญหาอันดับหนึ่ง คนรุ่นใหม่รับมือไม่ได้ เสียหายระดับโลก

“บิล เกตส์” คิดไม่ตกปัญหาหนึ่งระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ และรับมือจากความร้ายแรง เสพย์ข้อมูลเอไอสร้างขึ้นเป็นเท็จ จนเป็นการชี้นำและเจ้าชีวิต

KEY

POINTS

Key Points 

  • การที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลผิดๆ เกิดจากเอไอสร้างขึ้น ได้ถูกระบุว่าเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆของโลกในช่วง 2 ปีข้างหน้า ตามผลสำรวจของเวิล์ดอีโคโนมิคฟอรั่ม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
  • เกตส์ไม่มั่นใจจะหยุดยั้งการแพร่ข้อมูลเท็จนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องเซนซิทีฟที่อาจถูกแย้งว่า เป็นการจำกัดข้อมูลทางออนไลน์ สิทธิการพูดหรือแสดงความเห็นอย่างเสรี
  • โปรแกรมควบคุมข้อมูลเท็จ จะเกิดขึ้นตามกลไกทางธุรกิจ เมื่อมีคนสร้างโปรแกรมเอไอสร้างข้อมูลไม่จริง ก็จะต้องมีผู้คิดค้นวิธีควบคุมและตรวจสอบข้อมูลที่เอไอสร้างขึ้น

บิล เกตส์ คิดไม่ตกปัญหาระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ และรับมือความร้ายแรงจากข้อมูลเท็จที่เอไอสร้าง จนเป็นการชี้นำสังคม

เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ ใช้เวลาและเงินจำนวนมาก เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาใหญ่ๆในโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ หรือความยากจน ซึ่งปัญหาเอไอสร้างข้อมูลเท็จ กำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก แม้แต่ตัวเขายังคิดหนัก

เกตส์ให้สัมภาษณ์กับรายการ CNBC Make it ว่า การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และเฟคนิวส์ กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น แชทบอท ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทำให้สร้างข้อมูลเสมือนจริง และบางครั้งนำไปใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเท็จให้รวดเร็วง่ายขึ้น

ข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากเอไอสร้างขึ้น ได้ถูกระบุว่าเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆของโลกในช่วง 2 ปีข้างหน้า ตามผลสำรวจของเวิล์ดอีโคโนมิคฟอรั่ม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขณะที่ผลสำรวจของ Pew Research Center ปี 2566 พบว่าชาวอเมริกัน 55% ต้องการให้ รัฐบาลสหรัฐ และบริษัทเทคโนโลยีควรดำเนินการจำกัดข้อมูลเท็จทางออนไลน์

“ในโลกออนไลน์ พวกเราอาจจะคุ้นเคยกับทฤษฎีสมคบคิดที่มีให้เห็นมากมาย ซึ่งแฝงด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่เมื่อผมได้พูดคุยกับ ฟีบี้ เกตส์ ลูกสาว ทำให้มองเห็นความร้ายแรงของปัญหานี้มากยิ่งขึ้น” เกตส์บอก

ฟีบี้เล่าให้ผมฟังว่า เธอถูกคุกคามทางออนไลน์ และเพื่อนๆ ของเธอก็ต้องเผชิญเรื่องนี้บ่อยครั้ง นั่นทำให้ผมสนใจเรื่องนี้มากขึ้นในแบบที่ไม่คิดถึงเรื่องนี้มาก่อน

เมื่อปีที่แล้ว ในการสัมภาษณ์ในรายการ The Imformation ฟี้บี้ ได้พูดถึงสิ่งที่เธอเรียกว่า “ ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดและทฤษฎีสมคบคิด” ซึ่งส่งผลต่อครอบครัวและความสัมพันธ์กับเธอ โดยประเด็นนี้รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติของแฟนคนเก่าคนหนึ่งของเธอ ซึ่งเป็นคนผิวดำ

โลกอนาคตกับเกตส์ ทางเน็ตฟลิกซ์

เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ จะพูดประเด็นนี้ในซีรีย์สารคดี 5 ตอนทางเน็ตฟลิกซ์ ที่มีชื่อว่า What’s Next?

“The Future With Bill Gate” มีกำหนดการออกฉายรอบปฐมทัศน์ ในวันที่ 18 กันยายน 2567 ซึ่งในการเปิดตัวซีรีย์ก่อนออกฉายรอบปฐมฤกษ์ เกตส์บอกกับฟีบี้ว่า "พ่อรู้สึกแย่ที่ไม่อาจมีวิธีแก้ปัญหาเอไอสร้างข้อมูลเท็จ และช่วยหยุดยั้งการแพร่เฟคนิวส์"

ปัญหานี้ต่างจากปัญหาอื่นๆ เช่น ความเจ็บป่วย การส่งเสริมใช้พลังงานสะอาด แม้ไม่ง่าย แต่ก็มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน เกตส์บอกกับรายการ Make it

"เกตส์" พยายามเอาชนะเอไอ

เมื่อตอนที่เกตส์ก่อตั้งไมโครซอฟท์ เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่อยากใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุด ถัดมาคืออินเทอร์เน็ต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำงานและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ แต่เมื่อเกตส์เริ่มทำซีรีส์ชุดนี้ ได้มองเห็นว่า ท่ามกลางการแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ ผู้คนส่วนใหญ่ย่อมต้องการข้อเท็จจริง

ที่ผ่านมา เกตส์ ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญถึงความตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จนั้น ได้ทำให้เขาตระหนักมากขึ้นว่า มนุษย์ต้องการแสวงหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่มีมาก่อนหน้า

“แม้แต่ผมเองยังเคยจมกับความคิด” เกตส์บอกและเล่าว่า “ คุณลองคิดตามดูสิว่า ถ้าเจอบทความหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองคนที่ผมไม่ชอบ  นั่นจะทำให้ผมรู้สึกว่า บทวิจารณ์นี้ดีมาก และคงสนุกกับการอ่านบทความนี้ แม้จะเกินเชื่อไปหน่อย”

เสี่ยงจำกัดสิทธิเสรีภาพ

เกตส์ไม่มั่นใจจะหยุดยั้งการแพร่ข้อมูลเท็จนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องเซนซิทีฟที่อาจถูกแย้งว่า เป็นการจำกัดข้อมูลทางออนไลน์ สิทธิการพูดหรือแสดงความเห็นอย่างเสรี แต่เกตส์ยอมรับว่า จำเป็นต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ แล้วใครจะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้

กลยุทธ์โดยทั่วไปที่ใช้ระงับการแพร่ข้อมูลผิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง ก็มักจะเป็นโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ต ระบบการควบคุมเนื้อหาของแพลตฟอร์มโซเชียลนั้นๆ แต่น่าหวั่นใจเมื่อรู้ว่า มีบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งลดนโยบายในการให้ความสำคัญกับการใช้โปรแกรม เพียงเพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย

กลไกการแข่งขันธุรกิจ

“เบ็ธ โกลด์เบิร์ก ผู้บริหารของกูเกิล บอกกับรายการ Make it เมื่อปีที่แล้วว่า เทคโนโลยีสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ โดยนักวิจัยกำลังพัฒนาเครื่องมือเอไอ เพื่อระบุข้อมูลที่เป็นเท็จ และคำพูดท็อกซิกในโลกออนไลน์

แน่นอนว่า โปรแกรมควบคุมข้อมูลเท็จ จะเกิดขึ้นตามกลไกทางธุรกิจ เมื่อมีคนพัฒนาโปรแกรมเอไอ ก็จะต้องมีผู้คิดค้นวิธีควบคุมและตรวจสอบข้อมูลที่เอไอสร้างขึ้น” เกตส์เล่า

ถึงอย่างไร เกตส์เชื่อว่า ปัญหาข้อมูลเท็จจะไม่หมดไป และไม่ง่ายจะจัดการ เพราะข้อมูลเท็จเผยแพร่สู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนับพันล้านคนทั่วโลก แม้ในวันต่อมาคุณบล็อกข้อมูลเท็จนั้นได้ แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว

อ้างอิง : CNBC