เมื่อปัญญาประดิษฐ์ นำไปสู่การคิดใช้ พลังงานนิวเคลียร์

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ นำไปสู่การคิดใช้ พลังงานนิวเคลียร์

ปัญญาประดิษฐ์ มีศักยภาพสูงมากจนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติเทคโนโลยีมองว่า มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์แบบก้าวกระโดดครั้งที่ 4

หลังครั้งแรกเกิดจากการรู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากจากเกษตรกรรมแทนการหาของป่าและล่าสัตว์เมื่อกว่า 1 หมื่นปีที่ผ่านมา

ตามด้วยการประดิษฐ์เครื่องจักรกลทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อราว 250 ปีที่แล้ว และเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดยุคข่าวสารข้อมูลเมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้

    ปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพสูงมากในด้านการประมวลข้อมูล  การใช้ศักยภาพนั้นต้องใช้พลังงานสูงมากเป็นเงาตามตัว  ข้อมูลจำนวนมหาศาลต้องได้รับการรวบรวม แยกแยะ เก็บรักษาและนำออกมาใช้ในกระบวนการประมวล ซึ่งทำได้โดยการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมาก  

คอมพิวเตอร์เหล่านั้นมักเชื่อมต่อกันอยู่ในอาคารขนาดมหึมา ที่เรียกว่า “ศูนย์ข้อมูล”  คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า  นอกจากนั้น มันยังใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อระบายความร้อนอีกด้วย  การระบายมักอาศัยพัดลมขนาดใหญ่จำนวนมาก  

การผลิตกระแสไฟฟ้าทำได้หลายวิธี  แต่ละวิธีมีผลพวงต่างกัน เช่น การผลิตที่นิยมกันอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานานได้แก่การเผาฟอสซิลซึ่งประกอบด้วยถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ  การเผานี้มีผลพลอยได้ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน  

ส่วนการผลิตด้วยพลังน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงทางอื่น  ประเทศก้าวหน้าในอเมริกาเหนือและยุโรป จึงเริ่มรื้อถอนเขื่อนกั้นสายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ากันอย่างจริงจังดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน 

    นอกจากการรื้อถอนเขื่อนแล้ว หลายประเทศยังเริ่มปิดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกด้วย ทั้งนี้เพราะเตาเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงในด้านการกระจายกัมมันตภาพรังสีที่ฆ่ามนุษย์ได้ทั้งแบบทันทีและแบบผ่อนส่ง

 เยอรมนีเริ่มปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในจำนวนทั้งหมด 17 แห่งเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนและปิดได้ทั้งหมดเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา  สหรัฐปิดเตาปฏิกรณ์แล้ว 41 เตา ยังเหลืออยู่ 95 เตาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของเอกชนและกระจัดกระจายอยู่ใน 28 รัฐ  

ในบรรดาโรงงานไฟฟ้าที่ปิดไปนั้นมีแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย  โรงงานแห่งนี้มีเตาปฏิกรณ์ 2 เตาซึ่งหนึ่งเตาประสบปัญหาสาหัสในปี 2522 เมื่อแท่งเชื้อเพลิงละลายทำให้กัมมันตภาพรังสีซึมออกมาได้ส่วนหนึ่งก่อนที่มันจะถูกปิดตาย  ส่วนเตาที่สองทำงานมาจนกระทั่งถูกปิดเมื่อปี 2562  

อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าของโรงงานแถลงว่า เตาที่เพิ่งปิดไปจะได้รับการรื้อฟื้นให้กลับมาทำงานอีกครั้งในอีก 4 ข้างหน้า  เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัทไมโครซอฟท์ของบิล เกตส์และคณะ  ไมโครซอฟท์ต้องการกระแสไฟฟ้าปริมาณมากเพื่อใช้ในกิจการปัญญาประดิษฐ์  

ทั้งที่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า นับวันจะถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางขึ้น แต่ บิล เกตส์ยังมองว่ามันมีผลดีมากกว่าผลเสียเมื่อเทียบกับการผลิตจากการเผาฟอสซิล

 เขาจึงสนับสนุนการค้นคว้าหาวิธีใหม่ในด้านการสร้างเตาปฏิกรณ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และได้ลงทุนก่อสร้างเตาชนิดนั้นเป็นการทดลองแล้วโดยจะใช้เงินราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์และคาดว่าจะเสร็จในปี 2573  หากผลของมันออกมาตรงตามความคาดหวัง เขาคิดจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกถึง 10 เตา  

เทคโนโลยีที่บิล เกตส์ใช้ยังอาศัยวิธีแยกอะตอม (fission) เพื่อเอาพลังงานนิวเคลียร์  ในขณะนี้ มีความพยายามในหลายประเทศที่จะผลิตพลังงานนิวเคลียร์จากการหลอมรวมอะตอม (fusion) แต่ยังก้าวหน้าช้ามากทำให้คาดไม่ได้ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่และเมื่อไร  

ปัญญาประดิษฐ์จึงจำเป็นจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากการผลิตแบบเดิม ๆ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป ส่งผลให้การแย่งชิงกระแสไฟฟ้าในสหรัฐยิ่งจะเข้มข้น พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ความฝันของมนุษย์ที่จะหยุดความร้ายแรงของภาวะโลกร้อน จึงไม่น่าจะมีโอกาสเป็นจริง

ปัญหาอันแสนหนักหนาสาหัสของโลกในด้านนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มีคำตอบ  ปัญญาของมนุษย์เท่านั้นที่จะป้องกันมิให้การแย่งชิงยิ่งเพิ่มความเข้มข้นจนเป็นสงครามและโลกมิร้อนขึ้นจนเสมือนถูกไฟเผา  แต่ ณ วันนี้ มนุษย์ยังมีปัญญาไม่พอ.