AI ‘เหนือมนุษย์ในทุกด้าน’ อาจเห็นในไม่กี่พันวันข้างหน้า แต่ต้องแลกกับไฟฟ้ามหาศาลทั้งเมือง

AI ‘เหนือมนุษย์ในทุกด้าน’ อาจเห็นในไม่กี่พันวันข้างหน้า แต่ต้องแลกกับไฟฟ้ามหาศาลทั้งเมือง

โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ปัญญาประดิษฐ์ กำลังจะปฏิวัติทุกสิ่งรอบตัวเรา ซึ่งผู้นำสตาร์ตอัป OpenAI คาดการณ์ว่า เราอาจได้เห็น ‘เอไอที่ฉลาดกว่ามนุษย์’ ในไม่ช้า แต่การพัฒนาเอไอที่ทรงพลังเช่นนี้ก็มาพร้อมความท้าทายที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลเท่าทั้งเมือง

แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสตาร์ตอัป OpenAI แสดงวิสัยทัศน์เรื่องอนาคตของเอไอว่า จุดเปลี่ยนทางอารยธรรมมนุษย์อาจเกิดขึ้นในอีก “ไม่กี่พันวัน” นับจากนี้ เพราะโลกกำลังจะมีเอไอระดับที่เหนือกว่ามนุษย์

“เป็นไปได้ว่าเราจะมีปัญญาประดิษฐ์เหนือมนุษย์ภายในไม่กี่พันวันข้างหน้า หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่ผมมั่นใจว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้” ระบุในเว็บบล็อกซึ่งกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก กับแนวคิดที่ปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำอาจมาถึงเร็วกว่าที่เคยคิดกันเอาไว้

คำว่า “ปัญญาประดิษฐ์เหนือมนุษย์” หรือ “Artificial Super Intelligence” (ASI) เป็นเอไอที่มีฟังก์ชันทางความรู้ที่ทันสมัย และมีทักษะการคิดที่พัฒนาอย่างสูงจนล้ำหน้ากว่ามนุษย์ทุกคน ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ อาจสามารถเข้ามาแทนที่เกือบทุกงานของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเมื่อรวมร่างกับหุ่นยนต์แล้ว ก็จะทำให้เกิด “หุ่นยนต์อัจฉริยะ AI” ที่ทำงานได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่มีข้อจำกัดทางชีววิทยาเหมือนมนุษย์

ผลักดันลงทุนโครงสร้างไฟฟ้า และชิป

การจะสร้างเอไอเหนือมนุษย์ให้เป็นจริงขึ้นมา จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานไฟฟ้า และชิปประมวลผลที่เพียบพร้อม ซึ่งพลังงานไฟฟ้าก็เปรียบดั่งอาหาร ขณะที่ชิปก็เหมือนอวัยวะสมองของเอไอ โดยทั้งสองอย่างนี้ควรทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงเอไออันล้ำยุคได้

“หากเราต้องการนำเอไอไปสู่มือผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจำเป็นต้องลดต้นทุนการประมวลผล และทำให้แพร่หลาย (ซึ่งต้องใช้พลังงาน และชิปจำนวนมาก) หากเราไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดมาก ซึ่งจะเกิดสงครามตามมา และกลายเป็นเครื่องมือสำหรับคนรวยเท่านั้น” อัลท์แมน กล่าว

“เราจำเป็นต้องทำอย่างชาญฉลาดด้วยความมั่นใจ การเริ่มต้นของยุคปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่ซับซ้อน และท้าทายอย่างมาก ถึงแม้ไม่เป็นเรื่องราวที่เป็นบวกทั้งหมด แต่ผลดีนั้นมหาศาลมากจนเราควรทำเพื่อตัวเอง และอนาคต รวมถึงเพื่อหาวิธีจัดการความเสี่ยงที่อยู่ข้างหน้าเรา”

สำหรับประเด็นงานของมนุษย์ในอนาคต อัลท์แมนคาดการณ์ว่า “เทคโนโลยี AI นี้สามารถทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (ทั้งดี และไม่ดี) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงของงานส่วนใหญ่จะช้ากว่าที่คนส่วนใหญ่นึก และผมไม่กลัวว่าเราจะหมดสิ่งที่ต้องทำ (แม้ว่าอาจจะไม่เหมือน ‘งานจริง’ สำหรับเราในปัจจุบันก็ตาม)”

พลังงานไฟฟ้า ความท้าทายสำคัญของ AI

เพื่อทำให้ AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลมหาศาลมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ บริษัทโอเพนเอไอได้พยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงทุนสร้าง “ศูนย์ข้อมูลระดับยักษ์” ซึ่งคาดว่าดาต้าเซนเตอร์แต่ละแห่งอาจใช้พลังงานเทียบเท่ากับเมืองทั้งเมือง โดยโอเพนเอไอมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาโมเดลเอไอให้ก้าวหน้า และเพื่อสู้กับ “จีน” ได้

ความท้าทายใหญ่คือ ดาต้าเซนเตอร์ขนาดยักษ์ที่อัลท์แมนต้องการนั้น คาดว่าจะใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 5 กิกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่ง หรือมากเพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนเกือบ 3 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งเป็นตัวดูดพลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล

โอเพนเอไอเชื่อมั่นว่า โครงการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ขนาดยักษ์นี้ จะช่วยเพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สร้างงานใหม่หลายหมื่นตำแหน่ง และทำให้สหรัฐยังคงรักษาความเป็นผู้นำในการพัฒนาเอไอได้

ทางด้านโจ โดมิงเกซ (Joe Dominguez)  ซีอีโอของบริษัทพลังงาน Constellation Energy Corp. เปิดเผยว่า ได้ยินอัลท์แมนกำลังพูดถึงการสร้างดาต้าเซนเตอร์ 5-7 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีขนาดการใช้ไฟฟ้าถึง 5 กิกะวัตต์ ทว่าในเอกสารที่เผยแพร่กับทำเนียบขาวนั้นไม่ได้ระบุจำนวนตัวเลขที่แน่นอนเหล่านี้

โดมิงเกซ มองว่า “สิ่งที่เรากำลังพูดถึงไม่เพียงแต่ไม่เคยทำมาก่อนเท่านั้น ในฐานะวิศวกร ในฐานะคนที่เติบโตมากับสิ่งนี้ ผมยังไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ภายใต้กรอบเวลาที่จะแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ และกำหนดเวลา”

ทั้งนี้ สหรัฐมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 96 กิกะวัตต์ โดยสัปดาห์ที่แล้วบริษัท “Microsoft” นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของโอเพนเอไอได้ทำข้อตกลงกับบริษัท Constellation Energy โดยผู้ให้บริการพลังงานนิวเคลียร์รายนี้จะเปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island ที่เคยปิดตัวไปเพราะอุบัติเหตุในปี 1979 กลับมาใหม่อีกครั้ง เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับไมโครซอฟท์เป็นเวลาสองทศวรรษ

กลุ่มแบงก์สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์

ในระหว่างการประชุมเกี่ยวกับด้านสภาพอากาศที่มหานครนิวยอร์ก ในสัปดาห์นี้ ธนาคาร และสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลก 14 แห่ง ได้ประกาศความร่วมมือจะสนับสนุนการใช้ “พลังงานนิวเคลียร์” เพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นการรับรองประกาศ Triple Nuclear Energy ในที่ประชุม COP28 ของสหประชาชาติเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา

บรรดาสถาบันการเงินซึ่งรวมถึง แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, บาเคลย์ส, โซซิเอเต เจเนราล และรอธส์ไชลด์ แอนด์ โค ยอมรับว่าโครงการพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนระดับโลกมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยสนับสนุนเป้าหมายระยะยาวในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ และขยายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ให้กว้างขึ้น เพื่อเร่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วย

ปัจจุบันสหรัฐถือเป็นประเทศมหาอำนาจด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากที่สุดในโลกถึง 94 เครื่อง แซงหน้าเบอร์สองอย่างจีนและฝรั่งเศสซึ่งอยู่ที่ 56 เครื่อง และมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 54 แห่ง ใน 28 รัฐทั่วประเทศ

อ้างอิง: samaltmanfoxbloombergft

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์