กระเบื้องไอริสจากเศษแก้ว

กระเบื้องไอริสจากเศษแก้ว

ทุกๆ 1 กล่องของกระเบื้องไอริสช่วยลดการใช้ทรัพยากรผลิตเป็นกระจก 7.7 กิโลกรัม ก็เพราะกำเนิกจากการนำเศษกระจกรีไซเคิล กลับมาใช้ใหม่

ทุกๆ 1 กล่องของกระเบื้องไอริสช่วยลดการใช้ทรัพยากรผลิตเป็นกระจก 7.7 กิโลกรัม ก็เพราะกระเบื้องไอริสเกิดขึ้นด้วยการพัฒนาและนำเอาวัสดุรีไซเคิล อาทิ เศษกระจก กลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตใหม่ลงได้ 30%

จักรกฤษณ์ ทัฬหธีรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอริส อินดัสเทรียล ตัดสินใจสร้างแบรนด์กระเบื้องไอริสเมื่อปี 2549 หลังจากมีโอกาสอ่านผลงานวิจัยเรื่อง “การหาสภาวะการเคลือบผลึกที่แน่นอน เพื่อนำไปควบคุมกระบวนการผลิตของโรงงานให้สามารถเผากระเบื้องผลึกได้อย่างคงที่และสม่ำเสมอ” ของ ดร.วรพงษ์ เทียมสอน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพิจารณารายละเอียดแล้วเห็นว่า น่าจะนำมาขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาได้

"เราเริ่มต้นจากการพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วยการนำเสษวัสดุเหลือใช้ เพราะไม่สามารถแข่งขันเรื่องของราคากับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า ดังนั้่น หนทางเดียวก็คือการคิดพัฒนานวัตกรรมให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด" จักรกฤษณ์ เล่าที่มาของ "กระเบื้องเคลือบผลึกจากเศษกระจกรีไซเคิล" โดยได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในแง่ของการรับรู้แบรนด์ไอริส รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยในแต่ละปียอดขายโตขั้นต่ำ 10%

อาจารย์วรพงษ์ยังได้พัฒนาสูตรผสมของเนื้อกระเบื้อง และสารเคลือบผลึก ให้มีส่วนผสมของเศษกระจกรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งพบว่าลดอุณหภูมิการเผาลงจากเดิมใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,250-1,300 องศาเซลเซียส เป็น 1,150-1,200 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประหยัดพลังงานและลดอัตราการใช้แก๊สลงได้ 5% และด้วยความร้อนที่สูงนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารอันตรายในการผลิตเคลือบ เช่น สารจำพวกตะกั่วหรือปรอท ทำให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้

นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น แก้ว สำหรับบรรจุเครื่องดื่มหรือแม้แต่การนำเศษกระจกรีไซเคิล มาทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเบื้องเคลือบผลึก ด้วยการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตกระเบื้องให้สามารถใช้เศษกระจก ทั้งในส่วนของเนื้อกระเบื้องและสูตรสารเคลือบผลึกไม่ต่ำกว่า 30% ทำให้สามารถลดอุณหภูมิในการเผาลงได้ 50-100 องศาเซลเซียส

ลักษณะการเคลือบผลึกจะมีความหนาเกิดมิติของแสงและสีสวยงาม ทำให้สามารถสร้างเอกลักษณ์ของกระเบื้องให้มีสีสันและผิวเคลือบที่ชัดเจน ทำให้สามารถสร้างความเอกลักษณ์ของกระเบื้องแบรนด์ไอริส ให้มีสีสันและผิวเคลือบที่ชัดเจนและสวยงามแตกต่างของกระเบื้องดินเผาลำปางทั่วไปได้อย่างชัดเจน นับเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเซรามิกไทย สามารถพัฒนาองค์ความรู้ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

"เพราะวัตถุดิบกว่า 80% สามารถหาได้ในประเทศ จะมีเพียงชิ้นส่วนสารเคมีบางชนิดเท่านั้นที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่บริษัทมีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนากระเบื้องเคลือบผลึก และได้พัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในกลุ่มลูกค้าสถาปนิก โรงแรม และรีสอร์ท ที่ต้องการเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างซึ่งการประยุกต์ใช้เศษกระจกรีไซเคลิล สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สนับสนุนสินค้าที่มีส่วนผสมรีไซเคิลอีกด้วย"

จักรกฤษณ์ มองว่า นวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นหนทางหนึ่งสำหรับลดปริมาณกากเหลือทิ้งอุตสาหกรรมในอนาคต และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใหม่สร้างธุรกิจจากฐานความรู้และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของอุตสาหกรรมเซรามิก แม้ว่าจะเป็นตลาดนิชไม่ใช่ตลาดแมสที่มีปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก แต่มูลค่าต่อชิ้นที่ได้รับสูงกว่ากระเบื้องทั่วไป

แม้ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น กรีนโพรดักส์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศไทยเพราะมีราคาค่อนข้างสูง แต่คาดว่าแนวโน้มการใช้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ