เม็ดพลาสติกจากเยื่อกาแฟ
คาเฟ่อเมซอนย้ำความชัดเจนในคอนเซปต์รักษ์โลกด้วยความร่วมมือกับนักวิจัย ปตท. เปลี่ยนของเหลือจากโรงคั่วกาแฟ ให้เป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์
คาเฟ่อเมซอนย้ำความชัดเจนในคอนเซปต์รักษ์โลกด้วยความร่วมมือกับนักวิจัย ปตท. เปลี่ยนของเหลือจากโรงคั่วกาแฟ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์มีผิวสัมผัสเหมือนไม้เหมาะสำหรับฉีดขึ้นรูปเป็นไม้เทียมในอุตสาหกรรมตกแต่งหรือใช้เป็นส่วนผสมพลาสติกชีวภาพตั้งเป้าภายในปีนี้จะมี แก้วกาแฟ จานรองแก้ว สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ รวมถึงของชำร่วยสำหรับคอกาแฟรักษ์โลก ผลิตจากเม็ดพลาสติกเยื่อกาแฟ เพิ่มเติมจากแก้วใสจากพลาสติกชีวภาพทำจากพืช 100% ย่อยสลายได้ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2558
เปลี่ยนของเสียเป็นเงิน
เยื่อกาแฟเป็นของเหลือที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ถือเป็นภาระที่ต้องนำไปทิ้งหรือทำลายปีละหลายแสนบาท และหากกำจัดไม่ดีจะสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม กลายเป็นโจทย์ปัญหาให้กับ นายนรินทร์ กาบบัวทอง นักวิจัยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คิดหาวิธีจัดการปัญหานี้ด้วยการนำเยื่อกาแฟมาใช้เป็นสารเติมแต่งในเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมสีหรือสารเติมแต่งแบบสำเร็จรูป
เม็ดพลาสติกจากเยื่อกาแฟถือเป็นพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ภายในระยะเวลา 5 ปีด้วยการฝังกลบ และคาแรกเตอร์ที่สำคัญคือ หากนำเม็ดพลาสติกคอมพาวด์มาฉีดขึ้นรูป 100% จะมีผิวสัมผัสคล้ายไม้และย่อยสลายได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผสมกับเม็ดพลาสติกทั่วไปก่อนการฉีดขึ้นรูปเพื่อลดต้นทุนได้ด้วย
ล่าสุดทีมวิจัยทดลองฉีดขึ้นรูปเป็นแผ่นรองแก้วและกล่องใส่กระดาษทิชชู รวมทั้งอยู่ระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในลักษณะสิ่งของชำร่วยและของใช้ภายในคาเฟ่อเมซอน คาดว่า ปลายปีนี้จะวางจำหน่ายได้ มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ประมาณ 150 เท่าหากเทียบกับราคาพลาสติกที่จำหน่ายทั่วไป
"ที่ผ่านมา องค์ความรู้ส่วนใหญ่จากสถาบันวิจัย ปตท. จะเข้าไปช่วยในส่วนของกระบวนการผลิตในโรงงาน มากกว่าที่จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เหมือนเป็นนวัตกรรมที่แอบซ่อนอยู่ในกระบวนการผลิต ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการขนส่งปิโตรเลียมไปจนถึงโรงแยกก๊าซและโรงปิโตรเคมี” นายนรินทร์ กล่าว
2แรงผลักนวัตกรรม
นายนรินทร์ กล่าวว่า การคิดค้นนวัตกรรมมาจากแรงผลัก 2 ทางที่แตกต่างกันคือ การผลักดันเทคโนโลยีสู่ตลาด (Technology Push) และ การสร้างแรงดึงดูดจากตลาด (Marketing Pull) ทางสถาบันวิจัยฯ พยายามรักษาสมดุลทั้งสองส่วนนี้ ไม่ให้ทางใดทางหนึ่งมากเกินไป
ส่วนที่เป็น Marketing pull ทำได้ง่ายเนื่องจากมีเป้าหมายการทำวิจัยชัดเจน บริษัทลูกจะกำหนดว่า อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้ ด้วยราคาเท่านี้ คุณสมบัติเท่านี้ แต่บางครั้งบริษัทลูกก็ไม่ทราบว่า ลูกค้าต้องการอะไร จึงเป็นที่มาของ Technology push
ยกตัวอย่าง การนำเยื่อกาแฟมาทำเป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะต้องสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาด โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทมาร์เก็ตติ้งในเครือ เพราะถ้างานวิจัยขาดมาร์เก็ตติ้งก็จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือบริษัทในเครือจะจำหน่ายหรือให้บริการแต่ของเดิมๆ ซ้ำไปมาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการสร้างดีมานด์แล้ว Marketing pull ทำได้มากกว่า 70%มาร์เก็ตติ้งไปไม่ถึงนั้นเป็นการมองข้ามชอตที่ตลาดยังไปถึง เนื่องจาก Technology push เป็นงานวิจัยที่ก้าวไปข้างหน้า 3-5 ปีเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต ซึ่งปัจจุบันปัจจัยทางการตลาดเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ขณะที่งานวิจัยที่มาจากความต้องการของตลาด จะต้องทำให้เร็วหรือต้องสามารถออกสู่ตลาดได้ภายใน 1-2 ปี
"เราจะบาลานซ์ทั้ง 2 อย่างเพราะถ้าทำ Marketing pull อย่างเดียว เหมือนกับเราทำงานดับไฟอย่างเดียว คือทำไปเรื่อยๆ เพราะโจทย์มีตลอดเวลา เป็นการทำงานแค่ตอบสนองบริษัท ไม่ทำให้นักวิจัยมองข้ามชอตถึงความต้องการหรือเทคโนโลยีในอนาคต ไม่ได้เผื่อแผ่ไปสู่ระดับชาติ ทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ในวงกว้าง”
สำหรับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของสถาบันวิจัยฯ จะเป็นในลักษณะปลั๊กแอนด์เพลย์ (Plug and Play) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปเชื่อมต่อกับการทำงานในโรงงานได้โดยไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการฉีดด้วยการตั้งอุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับตัวคอมพาวด์ของเยี่อกาแฟเท่านั้น นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานยอมรับนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาได้ง่าย สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เร็ว ฉะนั้น นักวิจัยก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งไหนทำแล้วขายได้ สิ่งไหนทำแล้วขายไม่ได้