คาดลงทุนไอทีปีนี้แตะ4.52 แสนลบ.
“ไอดีซี” เผยใช้จ่ายด้านไอทีในไทยปี 2562 ทะยาน 4.52 แสนล้านบาท คลาวด์ โมบิลิตี้ บิ้กดาต้าอนาไลติกส์ โซเชียล ยึดเสาหลัก ไอโอที เอไอ โตก้าวกระโดด การเมืองไม่แน่นอน เศรษฐกิจผันผวนไม่ส่งผลกระทบ รับปัจจัยบวกดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
นางสาวประภัสสร เพชรแก้ว นักวิเคราะห์อาวุโส ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รับอานิสงส์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยระหว่างปี 2560-2565 เติบโตเฉลี่ย 5.4% ปี 2560 มีมูลค่า 4.14 แสนล้านบาท ปี 2561 มูลค่า 4.24 แสนล้านบาท
ส่วนในปี 2562 จะมีมูลค่า 4.52 แสนล้านบาท เมื่อถึงปี 2563 จะเพิ่มไปถึง 4.89 แสนล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 5.16 แสนล้านบาท และปี 2565 ประมาณ 5.40 แสนล้านบาท
“แม้โดยภาพรวมจะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว ทว่าเทคโนโลยีเช่น บริการพับบลิคคลาวด์ บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) มีแนวโน้มเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี โดยบริการพับบลิคคลาวด์เติบโตเฉลี่ย 20% บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ 18.6% ไอโอที 11.4%”
โดยสรุปการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยหลักๆ จะมาจากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ คลาวด์, โมบิลิตี้, บิ้กดาต้าอนาไลติกส์, และโซเชียล
“ภายใน 3-5 ปีจากนี้ การลงทุนไอทีแบบเดิมจะเติบโตแบบช้าๆ ไม่หวือหวือเท่าใดนัก การลงทุนด้านเทคโลยีและบริการต่างๆ จะเกี่ยวเนื่องไปกับแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 รวมถึงการผสมผสานใช้งานระบบโรโบติกส์ ค็อกนิทิฟ ไอโอที เออาร์ วีอาร์ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก”
เธอกล่าวว่า การลงทุนเทคโนโลยีรูปแบบเดิมที่จะชะลอตัวลงคือการใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และเปลี่ยนไปเป็นด้านบริการมากขึ้น ปัจจุบันการลงทุนไอทีมาจากกลุ่มคอนซูเมอร์และองค์กรสัดส่วนใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้นำปัจจัยทางด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คาดว่าปัจจัยด้านการเมือง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ไม่น่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากโดยปกติองค์กรต่างๆ ใช้งบลงทุนไอทีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ ส่วนใหญ่ระมัดระวังและเลือกลงทุนสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด เน้นการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า
สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ไอดีซีคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2565 มากกว่า 61% ของจีดีพีประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากเทคโลยีดิจิทัล ทุกอุตสาหกรรมจะนำไอทีมาเพิ่มศักยภาพ ปีเดียวกันดังกล่าว 60% ของธุรกิจองค์กรจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ที่น่าสนใจองค์กร 30% มุ่งพัฒนาตนเองไปสู่องค์กรดิจิทัล(digital-native) และใช้ไอทีเป็นตัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจ
นอกจากนี้ ในปี 2565 มากกว่า 20% ขององค์กรธุรกิจไทยที่พัฒนาด้านคลาวด์จะใช้เทคโนโลยีเอจคอมพิวติ้ง และ 25% ของอุปกรณ์ปลายทางจะมีเอไออัลกอรึทึมเข้าไปผสมผสาน ที่น่าสนใจ 70% ของแอพที่สร้างขึ้นในไทยจะใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าไมโครเซอร์วิสซึ่งทำให้การพัฒนาทำได้เร็วขึ้น
พร้อมระบุ เมื่อถึงปี 2567 จำนวนประชากรที่เป็นนักพัฒนาจะเพิ่มขึ้น 20% จากการสนุนโดยรัฐและโครงการบ่มเพราะต่างๆ ต่อไปจะได้เห็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดของการพัฒนานวัตกรรมทางดิจิทัล เอไอจะกลายเป็นยูสเซอร์อินเทอร์เฟซรูปแบบใหม่ ซึ่งเอื้อให้เกิดระบบงานอัตโนมัติ มากกว่านั้นเอไอจะเข้าไปช่วยเพิ่มความสามารถให้กับระบบซิเคียวริตี้ด้วย