ลุ้นทุน 20 ล้าน! พัฒนาหุ่นยนต์บริการ 5 ตัวสัญชาติไทย
เอกชนไทย 10 รายผนึกกำลัง 5 มหาวิทยาลัยหนุนเอสเอ็มอีปรับตัวรับกระแสดิจิทัลดิสรัป เปิดบริษัทผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์บริการ เตรียมเสนอขอทุนวิจัย สกสว. 20 ล้านบาทพัฒนาหุ่นยนต์บริการ 5 ตัว
เอกชนไทย 10 รายผนึกกำลัง 5 มหาวิทยาลัยหนุนเอสเอ็มอีปรับตัวรับกระแสดิจิทัลดิสรัป เปิดบริษัทผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์บริการป้อน 3 กลุ่มหลัก โรงพยาบาล ร้านอาหารและโรงแรม เตรียมเสนอขอทุนวิจัย สกสว. 20 ล้านบาทพัฒนาหุ่นยนต์บริการ 5 ตัว ทำหน้าที่แบ่งเบาภาระแรงงานคนด้านการขนส่งสิ่งของและประชาสัมพันธ์
นายทวีศักดิ์ วรรณาทิพยาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.บี.ฟู้ด-เทค จำกัด ผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจเอกชน 9 ราย ซึ่งมีทั้งด้านไอที หุ่นยนต์ เครื่องจักรและโรงพยาบาล มีมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี 5 แห่งร่วมเป็นเครือข่าย ดำเนินการจัดตั้งบริษัท ศูนย์หุ่นยนต์บริการไทย จำกัด (ทีเอสอาร์ซี) รองรับความต้องการใช้งาน “หุ่นยนต์บริการ” ในสถานประกอบการ ซึ่งเบื้องต้นโฟกัส 3 ส่วนคือ โรงพยาบาล โรงแรมและร้านอาหาร จะให้บริการด้านหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในยุคนี้และในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากภาคการศึกษา อุตสาหกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพ
ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางด้านหุ่นยนต์บริการยังนำเข้าจำนวนน้อย มักถูกมองข้ามและยังไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงทั้งที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่าและมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นไม่แพ้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในส่วนของบริษัทขณะนี้ร่วมดูแลและทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเครือข่าย เช่น ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นปูนอนติดเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวบนเตียง พัฒนาโดยนักวิจัยในสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าบุรี ทำหน้าที่แจ้งเตือนเพื่อป้องกันก่อนที่ผู้ป่วยจะตกเตียง รวมทั้งมอนิเตอร์ระยะเวลาการนอนสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับ
นายอัครพงษ์ เอกศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งร่วมก่อตั้งทีเอสอาร์ซี กล่าวว่า แม้ว่าแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากเทรนด์ของโลกกำลังจะเปลี่ยนไป มีการคาดว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้า การผลิตหุ่นยนต์ภาคบริการจะมียอดการผลิตสูงขึ้น อาจจะแซงหน้าหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคตอันใกล้นี้
หนึ่งในโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ใช้หุ่นยนต์บริการก็คือ ไทยวางเป้าหมายไว้ว่าจะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของเอเชีย ทำให้ลงทุนมูลค่ามหาศาลไปกับอุตสาหกรรมการแพทย์ ในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์บริการและหุ่นยนต์ทางการแพทย์
นอกจากการดูแลสินค้าที่เป็นผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเครือข่ายแล้ว ยังมีโครงการที่จะสร้างหุ่นยนต์บริการ 5 ตัวโดยอยู่ระหว่างเสนอขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์กรภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีแผนงานสนับสนุนการพัฒนาและใช้หุ่นยนต์โดยกำหนดเงื่อนไขให้เป็นการทำวิจัยวิจัยร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย
“เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอขอรับการสนับสนุนทุน 20 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนร่วมรับภาระ 20% ของมูลค่าโครงการ สำหรับพัฒนาหุ่นยนต์บริการ 5 ตัว แบ่งการทำงานเป็น 2 เฟสๆ ละ 18 เดือน เฟสแรกจะพัฒนาระบบเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นส่วนฐานสำหรับต่อยอดสู่ฟังก์ชั่นใช้สอยอื่นๆ ทั้งหุ่นยนต์ตู้ขนส่ง หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์ ก็พัฒนาส่วนบนเพิ่มแล้วนำมาติดตั้งกับระบบเคลื่อนที่”
นายอัครพงษ์ ซึ่งเคยพัฒนาหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า กรอบการออกแบบหุ่นยนต์บริการควรจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายมนุษย์เพียง 70% จะได้รับการยอมรับและรู้สึกเป็นมิตรมากกว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะสร้างความรู้สึกติดลบ จึงจะสังเกตเห็นว่า หุ่นยนต์บริการที่มีในตลาดทั้งของจีนและญี่ปุ่นล้วนทำหน้าตาให้เหมือนตัวการ์ตูน
“เป้าหมายของทีเอสอาร์ซีคือ การพัฒนาหุ่นยนต์บริการสำหรับเอสเอ็มอี ที่ใช้งานง่าย ราคาไม่แพง สามารถทำหน้าที่แบ่งเบาภาระแรงงาน ไม่ใช่การทดแทนแรงงาน ดังนั้น ในการออกแบบจึงต้องจำกัดให้มีเฉพาะฟังก์ชั่นหลักที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการศึกษาสภาพแวดล้อมหรือวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรนั้นๆ ก่อนการออกแบบหุ่นยนต์ เพราะแต่ละองค์กรจะมีวัฒนธรรมต่างกัน หากไม่มีการศึกษาให้เข้าใจก็จะทำให้หุ่นยนต์กลายเป็นส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์”