‘คน-การศึกษา’ เกราะเสริมแกร่งไทยรับมือดิสรัป

‘คน-การศึกษา’ เกราะเสริมแกร่งไทยรับมือดิสรัป

คีย์เวิร์ดในการรับมือกระแสดิจิทัลดิสรัปในมุมของ สุชัชวีร์ อธิการบดี สจล.คือ "การศึกษา" และ "คน" ที่จะนำไปสู่การพัฒนาส่วนอื่นๆ ตามกันไป

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยในงานสัมมนา “พลิกวิกฤติสร้างเศรษฐกิจไทย : Do or Die” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจว่า ดิสรัปชั่น คือยุคทำลายเพื่อเกิดใหม่ และเมื่อพูดถึงการพลิกโฉมทาง ดิจิทัลดิสรัป นั้นคนมักจะนึกถึงเรื่องของเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนองค์กรได้ ยังต้องอาศัยคน ธุรกิจ และโครงสร้างองค์กร ถ้าทำแค่จุดใดจุดหนึ่งจะพลิกโฉมทางธุรกิจไม่ได้หรือหากได้คงต้องใช้เวลานาน ซึ่งความจำเป็นในการปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในมิติการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม จะสามารถพัฒนาไทยไปสู่ เศรษฐกิจดิจิทัลที่ มีการนำเทคโนโลยี มาผสมผสานจุดแข็งของประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ แต่กระนั้นก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆอย่างเพราะเมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ก็ใช้ไม่ได้

หากเราจะล้อไปกับพายุเทคโนโลยีลูกนี้เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันที่พายุสงบลงนั้นคือการเสริมเกาะที่แข็งแรงตั้งแต่แรกเริ่มเพราะสังคมในปัจจุบันต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดนั่นก็คือ ‘การศึกษา’ เพราะการศึกษาจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ เด็กรุ่นใหม่จึงกลายเป็นคนสำคัญที่สุดเพราะฉะนั้นหากเรามีทรัพยากรเท่าไร เราต้องทุ่มเทไปกับฐานรากของการศึกษาที่สำคัญ จึงจะนำไปสู่การพัฒนาส่วนอื่นๆตามกันไป

‘ความรู้’ มีวิวัฒนาการ


โดยมีหลักการง่ายๆเพียงไม่กี่ข้อ คือ 1.จัดการกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีกำลังจะเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพ โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกล้วนเผชิญกับความเสี่ยงของเทคโนโลยีดิสรัปชันทั้งจากบริษัทด้วยกันเองหรือแม้กระทั่งอาชีพใหม่อย่างสตาร์ทอัพ อันจะนำมาซึ่งเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังนั้นเราควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเปิดใจยอมรับและศึกษาไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลง 2.ภาคการศึกษาไทยควรมีการออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก พร้อมสร้างทักษะการเรียนรู้ในยุคดิสรัปชันที่เด็กจะต้องมี

สุดท้ายแล้วเรามองว่าการที่จะฝ่าพายุเทคโนโลยีไปได้นั้นเราควรมีรากฐานที่แข็งแรงและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกขณะ ซึ่งหากบุคลากรในประเทศยังไม่มีศักยภาพเพียงพอก็ไม่สามารถที่จะไปต่อยอดสู่สิ่งใดๆได้ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจ ซึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้นั้น คือการบูรณาการภาคการศึกษาของไทยให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการทรานส์ฟอร์มด้วยการออกแบบโมเดลต่างๆที่มีกลยุทธ์แน่ชัด และ มีpassion ในเรื่องนั้นๆเป็นอย่างดี เพราะหากคนไทยคิดจะสู้ก็สู้ได้ เนื่องจากคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติในโลกแต่หากเรามัวแต่ลังเลจะเดินตามรอยของเทคโนโลยีไปเรื่อยๆมันอาจจะถึงจุดๆนึงที่เราจะดับไปพร้อมกับสิ่งเก่าๆเหล่านั้น ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำ หรือเราจะปล่อยให้ดิจิทัลกลบเราไปในที่สุด