ม.มหิดลประชันไอเดียเฟ้นหาว่าที่ ‘เฮลท์เทค สตาร์ทอัพ’

ม.มหิดลประชันไอเดียเฟ้นหาว่าที่ ‘เฮลท์เทค สตาร์ทอัพ’

เอ็นไอเอผนึก “วิศวะ มหิดล” เปิดเวทีแฮคกาธอนเฟ้นหาสุดยอดไอเดียธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เผยคัด 10 ทีมศักยภาพสู่การบ่มเพาะต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพ

นางสาวมนฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เกิดเฮลท์เทคสตาร์ทอัพ ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้าง โดยร่วมกับ Royal Academy of Engineering แห่งประเทศอังกฤษ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแข่งขันไอเดียในรูปแบบแฮคกาธอน “Global HealthTech Hackathon Challenges 2019” มีผู้เข้าร่วม 196 คน 

เฮลท์เทค (HealthTech) ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและสุขภาพยุคดิสรัปชั่น ทั้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม รองรับสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปี 2563 คาดว่ามูลค่าเฮลท์เทคในตลาดโลกจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนในประเทศไทยตลาดส่งออกและนำเข้า มีมูลค่าปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แต่ประเทศไทยยังขาดสตาร์ทอัพด้านนี้อีกมาก

ด้าน ผศ.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เฮลท์เทคเป็นความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยี DeepTech ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และอื่นๆ เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะในรูปแบบดาต้าเบส ที่เข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา หรือระบบการจัดการทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ การบริการคนไข้และการเพิ่มประสิทธิภาพห้องทดลอง เป็นต้น

วันนี้โลกแห่งการดูแลสุขภาพนั้นเปลี่ยนไปชัดเจน อย่างแรก คือ การเปลี่ยนจากดูแลสุขภาพแบบพบหมอเมื่อเจ็บป่วย มาเป็นการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาใน การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ซึ่งเป็นแนวคิดการรักษาโรคให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ถึงดีเอ็นเอ ปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค

ตัวอย่างเช่น ระบบการติดตามด้วยเซนเซอร์วัดสถิติร่างกาย (Dry Sensor) ประเภทอุปกรณ์นับจำนวนก้าว ระยะเวลาการนอน ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้งานมากกว่าล้านคนทั่วโลกตามจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้น และเซนเซอร์ที่ต้องตรวจผ่านเลือด (Wet Sensor) ได้แก่ ระบบวัดระดับกลูโคส ระบบวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดออกซิเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คนไม่ต้องเจาะเลือด แถมยังเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นได้

ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำเอไอ มาใช้ในการพัฒนา “เวชกรรมตรงเหตุ” ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

1. อุปกรณ์สวมใส่หรือเซนเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่างๆ ที่สามารถวัดสัญญาณของระดับประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หรือระบบวัดระดับกลูโคส ผ่านสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่อกับแอพลิเคชั่นได้ 

2. การนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการรักษา เช่น การรักษาโรคออทิสติกด้วยระบบซอฟต์แวร์ ร่วมกับระบบเทรนนิ่ง ตลอดจนเรื่องหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งใช้เทคโนโลยีเอไอมาวางแผน 

3. อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องซอฟต์แวร์ เฉกเช่นเดียวกับประเทศผู้นำที่ผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร 


จะเห็นได้ชัดเจนว่ายุคเฮลท์เทคของวงการสุขภาพได้มาถึงแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ประเทศไทยควรทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์จากเทคโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากประเทศไทยสามารถรับรองผลการวิจัยได้เลยภายในประเทศ ก็จะเป็นการลดเงินทุนผู้ผลิต และตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน  


สำหรับกิจกรรมแฮคกาธอนนี้ จัดที่ ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมอินโนจีเนียร์ (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน วัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกแนวคิดธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการแพทย์และสุขภาพ ผู้แข่งขันจะได้รับโจทย์ก่อนลงพื้นที่พบผู้เชี่ยวชาญ เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และต้องทำโจทย์ให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ทีมใดมีความคมเข้มในศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาได้ มีความอดทนและบริหารเวลาได้ดีก็มีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล มี 3 รางวัล และเอ็นไอเอจะคัดเลือก 10 ทีมที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพ