3 กลไกส่งอิทธิพลต่อทิศทาง 'นวัตกรรมสุขภาพ'

3 กลไกส่งอิทธิพลต่อทิศทาง 'นวัตกรรมสุขภาพ'

นักวิชาการสุขภาพชู  3 กลไกหลัก ที่ส่งอิทธิพลต่อทิศทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในอนาคต โจทย์ที่นักนวัตกรรมต้องขบคิด

ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า อนาคตได้มองเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพจาก 3 กลไกขับเคลื่อนหลักที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในอนาคต ซึ่งกลไกแรกคงหนีไม่พ้นในเรื่องของประชากร ทั้งด้านจำนวน วัย เนื่องจากโลกเกิดวิวัฒนาการหลายๆ อย่างส่งผลให้เด็กเกิดใหม่น้อยลง จำนวนประชากรหดตัว จนเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยพบว่าในปี 2560

ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 11.3 ล้านคน เป็นเพศชาย 44.9% เพศหญิง 55.1%  และในอีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้เราจะมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีอะไรที่จะมารองรับตรงจุดนี้ได้ เพื่อให้สังคมสูงวัยมีสุขภาวะดี และสามารถยืดอายุขัยของผู้สูงวัยเหล่านี้ได้นานขึ้น 
อีกทั้งในระหว่างช่วงชีวิตจะมีเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าทุกๆ 5 ปี ในภาพรวมของคนไทยนั้น ผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 71 ปี แต่จะอยู่แบบสุขภาพดีได้ถึง 68 ปี ส่วนผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 78 ปี แต่จะอยู่แบบมีสุขภาพดีได้ถึง 74 ปี  แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการด้านการดูแลสุขภาพในอนาคตมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายก็ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทำให้วิธีการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาช่วยได้คือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มาจากเทคโนโลยีชั้นสูงนั่นเอง

 
กลไกส่วนที่ 2 คือเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม เนื่องด้วยเทรนด์ของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มมีเข้ามามากขึ้น เราก็จะเห็นว่าหลักๆ จากการวิเคราะห์เมกะเทรนด์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเขตเมือง เนื่องจากมนุษย์ต้องการความเป็นอยู่ที่ดี หรือ แม้กระทั่งการใช้ชีวิตแบบเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี ทำให้คนจากชนบทย้ายเข้ามาสู่เมืองมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสังคมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในอนาคต หากเราเป็นนักนวัตกรรมเราจะทำอย่างไรให้มาตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนเหล่านี้ได้ และเมื่อสามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคมปัจจุบันได้ก็จะทำให้นวัตกรรมเหล่านี้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักของโลกในอนาคต   


กลไกสุดท้ายคือ ‘เทคโนโลยี’ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกแวดวง ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมมากมาย  อย่างเช่นที่ผ่านมา ‘สมาร์ทโฟน’ หรือ ‘นาฬิกา’ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์รักษาผู้ป่วยไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งเรื่องของเซ็นเซอร์ เอไอ และบิ๊กดาต้า ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวงการแพทย์ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น 


“ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวโน้มความต้องการด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพในอนาคต ที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ หากนักนวัตกรรมต้องการที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการแพทย์ไทยก็จะต้องพิจารณาถึงหลักแนวโน้มพื้นฐานเหล่านี้เพื่อคิดค้นนวัตกรรมออกมาตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด จนนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์นานาชาติที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพของไทยในอนาคตเช่นกัน” ณัฐพันธุ์ กล่าว  


*เรียบเรียงจากงานสัมมนาหัวข้อ ‘การวิจัย และ การสร้างนวัตกรรมกับอุตสาหกรรมสุขภาพในอนาคต’ ภายในงาน Thailand Tech Show 2019 โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)