เติมความชุ่มชื้นด้วย “อนุภาคนาโนไลโพโซมจากโปรตีนกาวไหม”

เติมความชุ่มชื้นด้วย “อนุภาคนาโนไลโพโซมจากโปรตีนกาวไหม”

เวชสำอางจากโปรตีนซิริซิน เพิ่มมูลค่าจากน้ำต้มกาวไหมเหลือทิ้ง ด้วยอนุภาคนาโนไลโพโซช่วยเพิ่มความคงตัว เสริมคุณสมบัติของโปรตีนซิริซิน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการแพทย์

ดร.สุวิมล สุรัสโม นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โปรตีนซิริซิน (sericin) หรือโปรตีนน้ำกาวไหม เป็นสารสกัดโปรตีนที่ได้จากน้ำต้มรังไหมเหลือทิ้ง ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและในทางการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายของโปรตีนซิริซิน ทั้งฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดเลือนริ้วรอย ช่วยกระตุ้นการเจริญของเซลล์ผิวหนัง เพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง และฤทธิ์ในการช่วยรักษาบาดแผล เป็นต้น


งานวิจัย “อนุภาคไลโพโซมดัดแปลงด้วยพอลิเมอร์เพื่อกักเก็บโปรตีนซิริซินสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง”เป็นการพัฒนาโครงการสร้างของอนุภาคนาโนไลโพโซม เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มความคงตัวของของอนุภาคนาโนไลโพโซม อีกทั้งต้องการเพิ่มคุณสมบัติความสามารถการกักเก็บ ช่วยปกป้องคุณสมบัติของสารสำคัญ และการนำส่งสารที่กักเก็บเข้าสู่ผิวหนังด้วยระบบของไลโพโซมได้ดีขึ้น


ดร.สุวิมลและทีมวิจัยนาโนเทค นำโปรตีนซิริซินมากักเก็บในอนุภาคนาโนไลโพโซมที่มีการดัดแปลงโครงสร้างด้วยสารพอลิเมอร์ เพื่อช่วยปกป้องคุณสมบัติและยืดอายุของโปรตีนซิริซินที่ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ ให้มีความคงตัวอยู่ได้นานยิ่งขึ้น นำมาผ่านกระบวนการอบแห้งแบบพ่นฝอย (spray dry) เพื่อได้เป็นผงแห้งเพื่อให้เหมาะสมและสะดวกกับการนำไปประยุกต์ในเวชสำอางและเภสัชภัณฑ์


จากผลการทดลอง นักวิจัยพบว่า อนุภาคไลโพโซมดัดแปลงที่กักเก็บโปรตีนซิริซินแล้วนั้นมีขนาดของอนุภาคอยู่ในระดับ 200 – 250 นาโนเมตร จากการศึกษาการควบคุมการปลดปล่อยสารออกฤทธิ์จากอนุภาคไลโพโซมดัดแปลงด้วยสารละลายที่มีค่าความเป็นกรดด่าง ใกล้เคียงผิวหนัง (pH 5.5) พบว่า โปรตีนซิริซินที่ถูกกักเก็บอยู่ในอนุภาคนาโนไลโพโซมดัดแปลงสามารถช่วยควบคุมการปลดปล่อยโปรตีนซิริซินออกจากอนุภาคนาโนดังกล่าว นอกจากนี้อนุภาคนาโนที่ผ่านกระบวนการอบแห้งแบบพ่นฝอย ยังมีความคงตัวที่ดี การเตรียมอนุภาคไลโพโซมที่ทำการกักเก็บโปรตีนซิริซินในรูปผงแห้งนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จากคุณสมบัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโปรตีนกาวไหมมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอาง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากน้ำกาวไหมที่เหลือทิ้งจากผลิตเส้นไหมทั้งจากเส้นไหมชุมชน และเส้นไหมอุตสาหกรรมได้มากกว่า 400 ตัน นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาน้ำเสียอันเกิดจากการกำจัดน้ำกาวไหมลงสู่แหล่งธรรมชาติ นวัตกรรมนี้ ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรและ อยู่ระหว่างการเสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิในสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เพื่อต่อยอดในลักษณะของการร่วมวิจัย ขยายสเกล และผลักดันงานวิจัยไทยออกสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป