สภาสถาปนิก'19 พื้นที่โชว์เคสนวัตกรรมก่อสร้าง-สถาปัตยกรรม
สภาสถาปนิก' 19 หรือ ACT Forum’19 งานประชุมเชิงวิชาการและแสดงนวัตกรรมก่อสร้าง ระดับนานาชาติ ที่จะช่วยอัพเดตองค์ความรู้และต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างของไทยให้สามารถยกระดับเทียบเท่ากับระดับสากล คาดผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคนตลอดวันงาน
โมเดลอาคารหอประชุมนานาชาติพร้อมอาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) แรงบันดาลใจการออกแบบจากเมืองพิมาย, สีแนวคิดใหม่ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก ตอบโจทย์งานอาคารเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย, พัดลมขนาดยักษ์ แต่ประหยัดพลังงานโดยอาศัยหลักการเรื่องการสร้างอากาศหมุนเวียนในพื้นที่ และเฟอร์นิเจอร์ไทยดีไซน์ระดับโลก ตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้าง ที่จะจัดแสดงในงาน “สภาสถาปนิก 19” หรือ ACT Forum’19 งานประชุมเชิงวิชาการและแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างระดับนานาชาติ ที่จะช่วยอัพเดตองค์ความรู้และต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างของไทยให้สามารถยกระดับเทียบเท่ากับระดับสากล คาดมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคนรวมตลอดทั้ง 4 วัน
อาคารหอประชุมนานาชาติ มทร.อีสาน พื้นที่ใช้สอยขนาด 12,300 ตารางเมตร รองรับผู้คนได้กว่า 4 พันคน ผลงานการออกแบบจากบริษัท เคเอสบี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จุดประสงค์คือสร้างเป็นอาคารสำหรับพระราชทานปริญญาบัตร ได้รับแรงบันดาลใจการวางผังเมืองจากเมืองพิมาย ความพิเศษอยู่ที่หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น กระแสลมไหลผ่านเข้ามาตลอดเวลา ช่วยให้อากาศเย็นลง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดระบบปรับอากาศทั้งอาคาร ประหยัดค่าไฟถึง 40% ส่วนสีจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น หิน lime-stone, ซีเมนต์หรืออื่นๆ มาผสานกับวัสดุแห่งอนาคตในชื่อ กราฟีน ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Cradle to cradle ระดับโกลด์ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมครบวงจร เมื่อหมดอายุการใช้งาน สีที่ลอกร่อนจะถูกหมุนเวียนเป็นละอองกลับสู่ธรรมชาติด้วยตัวเอง นวัตกรรมจากบริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่ยังคงสามารถตอบโจทย์การใช้งานในด้านต่างๆ ไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้าน ปรวรรณ มหัทธนะสุข Customer and Brand Management Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้สร้าง BIM Center เพื่อนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาจัดแสดง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างผ่านกระบวนการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น จึงสามารถช่วยลดของเสียจากการก่อสร้าง ด้วยวิธีการสร้างโมเดล 3 มิติ ที่รวมแบบสถาปัตย์ โครงสร้าง และงานระบบเข้าด้วยกัน โดยใส่ข้อมูลของวัตถุองค์ประกอบต่างๆ ในอาคารเข้าไป ทำให้สามารถวางแผนการก่อสร้างและทำ Clash Detection เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดผ่านโมเดลก่อนการลงมือก่อสร้างจริง เพื่อให้ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
ศุภแมน มรรคา ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่จะมีการนำเสนอภายในงาน สภาสถาปนิก'19 ทำให้บรรดาสถาปนิกไทย และประชาชนทั่วไป ได้รับองค์ความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่างๆในประเทศได้เป็นอย่างดี นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จะสามารถส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้มีความพร้อมเทียบเท่าระดับสากล ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
“สภาสถาปนิก' 19” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย.นี้ ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี ขณะนี้มีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเข้าร่วมงานกว่า 500 ราย จาก 30 ประเทศคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้ง 4 วันไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคน คิดเป็นสัดส่วนไทย 75% และต่างชาติ 25% ขณะเดียวกันงานครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ Construction Industry 2562 ของธนาคารพาณิชย์ ที่คาดว่ามูลค่าการก่อสร้างรวมของไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 1.38 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งการก่อสร้างภาคเอกชนจะเติบโตราว 5.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.5% ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า โครงการมิกซ์ยูสของภาคเอกชน