‘เลียม คอนดอน’ ดิจิทัล ‘ทรานส์ฟอร์มโลกการเกษตร’
ไบเออร์มุ่งโฟกัสการพัฒนานวัตกรรม ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และสร้างความยั่งยืน
ในแวดวงการเกษตร ชื่อของ “ไบเออร์” เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในเวทีโลกรวมถึงประเทศไทยมาช้านาน แม้ความยิ่งใหญ่ที่มียังไม่มีใครสามารถเทียบชั้นได้ ทว่ายักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์สัญชาติเยอรมนีรายนี้ยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นำ ด้วยวิสัยทัศน์และแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจบนความยั่งยืน ที่น่าจับตามองประกาศปักธงทรานส์ฟอร์มภาคการเกษตรรับโอกาสการมาของคลื่นดิจิทัลที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว...
เลียม คอนดอน สมาชิกคณะกรรมการบริหารและประธานแผนกครอปซายน์ ไบเออร์ เปิดมุมมองว่า เทคโนโลยีไอทีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัยเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกอาหารได้เพียงพอสำหรับประชากรโลก ขณะเดียวกันมีส่วนสำคัญช่วยให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี การลงทุนทางเทคโนโลยีรองรับอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นสร้างนวัตกรรม หน่วยงานกำกับดูแล เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างความไว้วางใจและการยอมรับ
ไบเออร์จึงมีการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยมีมุมมองว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือรูปแบบดิจิทัลจะมีส่วนสำคัญช่วยให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ด้านเกษตรกรสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการเพาะปลูกได้ดีมากขึ้น
กางแผนลงทุนทะลุหมื่นล้าน
เขากล่าวว่า จุดยืนธุรกิจโฟกัส 3 พันธกิจประกอบด้วย การพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมระดับเวิลด์คลาส ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการสร้างความยั่งยืน เชื่อว่าพลังของดิจิทัลจะทำให้เกิดการพัฒนายกระดับในหลากหลายมิติ ทั้งด้านความเป็นไปได้ใหม่ บิสิเนสโมเดลใหม่ รวมถึงผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม อีกทางหนึ่งดาต้าที่เก็บรวบรวมมาได้จะช่วยให้สามารถนำไปใช้ทำนายความเป็นไปในอนาคต
“เรามุ่งแก้ปัญหาของมนุษยชาติที่กำลังเผชิญความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากร และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทว่าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับภาคการเกษตร บางพื้นที่ต้องประสบเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่คาดฝัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนการผลิตและอนุรักษ์ให้สมดุล มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีขึ้น ภายใต้การใช้พื้นที่ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องขยายเพิ่ม”
ปีที่ผ่านมาไบเออร์ใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 2.3 พันล้านยูโรในการวิจัยและพัฒนาด้านครอปซายน์ ซึ่งมากกว่าคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงกว่า 25,000 ล้านยูโรภายใน 10 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์กว่า 7,300 คนทำงานในศูนย์วิจัยและพัฒนามากกว่า 35 แห่ง และสถานีเพาะพันธุ์มากกว่า 175 แห่ง
นอกจากนี้ จัดทำโครงการเพาะพันธุ์แบบผสมผสาน เทคโนโลยีชีวภาพ สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช มั่นใจว่าโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาและผลิตด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแผนกครอปซายน์มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดยอดขายสูงถึง 3 หมื่นล้านยูโร ในระยะสั้นคาดว่ายอดขาย 1.7 หมื่นล้านยูโรจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ดัน‘ฟิลด์วิว’ยกระดับผลผลิต
ผู้บริหารไบเออร์เผยว่า ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการเกษตรชื่อว่า “ฟิลด์วิว (FieldView)” ในพื้นที่เกษตรกรรมหลายล้านเอเคอร์ทั่วโลก โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละฟาร์มได้แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ ช่วยให้สามารถรวบรวมและแสดงข้อมูลของไร่นา วิเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพของพืชผล พร้อมจัดการความแปรปรวนได้ง่ายขึ้น ภายใต้ความยืดหยุ่นของแผนความอุดมสมบูรณ์และการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่กำหนดเอง
“อนาคตของเกษตรกรรมไม่เคยน่าตื่นเต้นเท่านี้มาก่อน เมื่อปี 2561 ฟิลด์วิวอยู่บนพื้นที่มากกว่า 60 ล้านเอเคอร์ทั่วโลก และภายในปีนี้บริษัทกำลังขยายฐานการใช้งานให้ได้ถึง 90ล้านเอเคอร์”
ไบเออร์มองเห็นโอกาสหนึ่งพันล้านเอเคอร์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวเพื่อปรับปรุงระบบอาหารในเชิงบวกและยั่งยืน เป้าหมายหวังขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม บุกเบิกการเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ของเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ขณะนี้มีพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันกว่า 60 ราย
ปัจจุบัน ให้บริการแล้วในตลาดสหรัฐ แคนาดา บราซิล อาร์เจนตินา และ 15 ประเทศในยุโรป รวมถึงตลาดสำคัญ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และยูเครน ส่วนการขยายฐานสู่ประเทศอื่นๆ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่อาจระบุเวลาที่แน่ชัดได้ ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลและพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแต่ละท้องถิ่นเสียก่อน
มุ่งกลยุทธ์‘สร้างความยั่งยืน’
คอนดอนแสดงวิสัยทัศน์ว่า ภาคการเเกษตรจำเป็นต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ขณะเดียวกันไม่ทำให้โลกขาดแคลนทรัพยากร ไบเออร์จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการค้นหาความสมดุลระหว่างการผลิตอาหารและการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
“ในฐานะผู้นำด้านเกษตรกรรมเรามุ่งจัดการกับความท้าทายระดับโลกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้โลก”
โดย 3 มาตรการ ที่จะนำมาใช้เพื่อจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ภายในปี 2573 ประกอบด้วย 1.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชลง 30% โดยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดปริมาณในการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและมีการใช้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ 2.ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่มาจากการทำเกษตรกรรมที่ปล่อยแก๊สมากที่สุดในภูมิภาคต่างๆ ที่บริษัทให้บริการอยู่ลง 30% และ 3.ช่วยให้เกษตรกรรายย่อย 100 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงวิธีแก้ปัญหาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้ต้องมีการผสมผสานนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ากับรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกันไป
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในระยะยาวของครอปซายน์ไม่ได้อยู่ที่การขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น แต่อยู่ที่การจัดหาวิธีแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง บริษัทไม่ได้มองเพียงตัวเลขผลประกอบการแต่หวังทำให้ทั้งอีโคซิสเต็มส์เติบโตไปพร้อมกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'ไทยคม' ผนึก 'ไชน่า เกรท วอลล์' ลุยเทคโนฯ อวกาศ
-เปิด “มหกรรมเล่นกับผีที่เมกาบางนา
-โลกร้อน กระทบผลผลิตเกษตร
-ดีเดย์! ก.เกษตรมีมติแบน 3 สารเคมีร้าย 1 ธ.ค.นี้