“เคที” เผย “13บริษัท” ร่วมใช้ท่อร้อยสาย
กรุงเทพธนาคม เผย ครบกำหนดขยายเวลายื่นความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสาร มีผู้สนใจรวม 13 ราย เตรียมสรุปข้อมูลก่อนเสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อกำหนดอัตราค่าเช่าท่อต่อไป
วานนี้ (18 ต.ค.)นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ขยายเวลายื่นเอกสารแจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะของ “ไมโครดัก” ของทางบริษัทฯ เพิ่มเติมถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 หลังเปิดให้แจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารรอบแรกที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 มีผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาจัดเตรียมเอกสาร ทางบริษัทฯ ได้พิจารณาขยายเวลาเปิดโอกาสให้อย่างเต็มที่
ผลปรากฎว่า มีผู้ประกอบการที่ยื่นความประสงค์ใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของบริษัทฯ เพิ่มเติม จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 2.บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 4.บริษัท แอมเน็กซ์ จำกัด และ5.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
ดังนั้นเมื่อรวมกับผู้ประกอบการที่ได้ยื่นความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ในรอบแรก ที่มีจำนวน 8 ราย คือ 1.บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด 2.บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท อินฟอเมชั่น ไฮเวย์ จำกัด 4. บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) รวมแล้วมีจำนวนผู้ที่ยื่นความต้องการใช้ท่อทั้งหมด 13 ราย
“หลังจากนี้จะต้องนำข้อมูลที่ทางผู้ประกอบการยื่น มาสรุปเป็นความต้องการใช้ท่อที่จะใช้ในแต่ละเส้นทาง แต่ละโซนว่าจะมีความต้องการใช้จริงจำนวนกี่ท่อ และนำมาใช้ในการประเมินต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นอัตราอ้างอิงค่าเช่าท่อจริง ที่ทางบริษัทฯจะเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)พิจารณาอีกครั้ง” นายมานิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอได้ภายในเดือนตุลาคม ซึ่งกสทช.จะเป็นผู้พิจารณาอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสาร ตามประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้องของ กสทช.ต่อไป
"กรุงเทพธนาคม ยังเปิดรับข้อมูลความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารจากผู้ประกอบการรายอื่น ที่อาจมีความต้องการใช้ในอนาคต ขณะที่ได้ศึกษาแนวทางสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ที่อาจมีความต้องการเพิ่มเติมเช่นกัน ดังนั้นหากมีผู้ประกอบการต้องการใช้ท่อร้อยสายเพิ่มสามารถแจ้งความต้องการเพิ่มได้ตลอดเวลา” นายมานิต กล่าว