‘โลหะปลอดสนิม’ นวัตกรรมบนเรือรบ ส่งขึ้นบกสู่พลเรือน

‘โลหะปลอดสนิม’ นวัตกรรมบนเรือรบ ส่งขึ้นบกสู่พลเรือน

จากงานวิจัยปกป้องเรือรบจากสนิม ผู้ประกอบการต่อยอดสูตรพัฒนาสู่ “โลหะกันกร่อน- สีกันสนิม” กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาสนิมในโครงสร้างเสริมเหล็ก ตัวช่วยภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล “ไทยมารีน โพรเทคชั่น” รายแรกของไทยโชว์จุดขายนวัตกรรมกันสนิมครบวงจร

เหตุจากสนิมสู่นวัตกรรม

“ตัวโลหะกันกร่อนหรือแอโนด (Anode) มีหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน แอโนดที่เหมาะกับการใช้งานบนเรือควรเป็นอะลูมิเนียม ทว่า อะลูมิเนียมแอโนดไม่มีผู้ผลิตในไทย หลังศึกษาจนหาทางผลิตให้กับกองทัพเรือเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็เลยเห็นช่องทางว่าน่าจะขยายผลในเชิงธุรกิจได้ จึงชักชวนเพื่อนๆ กับคนในครอบครัวมาเปิดบริษัทผลิตอะลูมิเนียมแอโนดจำหน่าย” นาวาโท พินัย มุ่งสันติสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยมารีนโพรเทคชั่น จำกัด (TMP)กล่าว

นาวาโท พินัย อดีตเคยรับราชการเป็นวิศวกรแห่งกองทัพเรือ ได้รับรู้ปัญหาเรือรบเป็นสนิม เกิดความเสียหายของโครงสร้างโลหะ จึงทำการศึกษาวิจัยและผลิต “อะลูมิเนียมกันกร่อน” (Sacrificial Anodes) เพื่อแก้ปัญหาสนิมให้กับเครื่องจักร อุปกรณ์ตลอดจนยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพเรือ ที่ผลิตจากโลหะและถูกกัดกร่อนจากน้ำทะเล จากนั้นจึงได้มุ่งสู่ภาคธุรกิจโดยสมบูรณ์ เพื่อทุ่มเทกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มตัว เนื่องจากมองเห็นช่องว่างจากการที่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีด้านป้องกันสนิมที่ทันสมัย จากจุดนี้ทำให้เห็นว่า ความเสียหายของการเกิดสนิมในประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของจีดีพี

157172188212

จากการศึกษาในภาพรวมพบว่า แทบทุกประเทศทั่วโลกก็พบเจอกับปัญหาเหล่านี้ ส่วนวิธีแก้คือเทคโนโลยีแอโนด ซึ่งเป็นการจ่ายกระแสป้องกันโครงสร้างพื้นฐานโลหะประเภทต่างๆ เช่น เรือเดินสมุทร ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้าและโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลักการทำงานง่ายๆ ของนวัตกรรมดังกล่าว คือ ตัวโลหะกันกร่อนนี้จะยอมเป็นสนิมแทนเหล็กนั่นเอง โดยแท้จริงแล้วสาเหตุของการเกิดสนิมมาจากการที่เหล็กสูญเสียอิเล็กตรอน แล้วไปทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ ความชื้น ดังนั้น นวัตกรรมนี้จึงถูกนำมาติดกับเหล็กและทำหน้าที่จ่ายกระแสผ่านตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็น น้ำทะเล ใต้ดิน หรือปูน ปัจจุบันสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลายและจัดจำหน่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 100% โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่เสี่ยง เช่น บางขุนเทียน พระราม2 ขณะเดียวกันยังอยู่ในช่วงขยายผลทดสอบกับกรมทางหลวง ทางหลวงชนบทและหน่วยงานภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ลดค่าใช้จ่ายระยะยาวกว่า 70%


ประเทศไทยมีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวนมาก ดังนั้น หากเทคโนโลยี TMP Concrete Anode ถูกนำไปใช้งานในการติดตั้งตามโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสม ภายใต้โครงสร้างบำรุงเป็นวงรอบในระยะยาวประมาณ 40-50 ปี จะช่วยลดงบประมาณประเทศด้านการซ่อมบำรุงซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับค่าก่อสร้าง เพราะการซ่อมส่วนใหญ่จะเป็นฐานราก ซึ่งจะต้องมีการค้ำยันป้องกันโครงสร้างถล่ม จึงจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งสูง

ยกตัวอย่างสะพาน Geona Bride ในอิตาลีพังเสียหาย ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 43 คน สูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมสะพานและค่าอื่นๆ ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ในสหรัฐมีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่สูงกว่าไทย แต่มีการตรวจสอบพบว่า มีสะพานที่ไม่พร้อมใช้ประมาณ 5 หมื่นสะพาน จะเห็นว่า แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วยังเกิดการเสียหายจากสนิมได้  ขณะที่ประเทศไทยมีสะพาน หรือโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก พบสะพานประมาณ 3 หมื่นแห่งที่โครงสร้างเสียหาย หากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะช่วยลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้น  ในระยะยาวจะสามารถลดงบประมาณได้ถึง 70.55% นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

157172201860


ต่อยอดผลิตแบตฯรถไฟฟ้า 
เทคโนโลยีของบริษัทไทยมารีนโพรเทคชั่น ที่พัฒนานี้ถูกกว่าของต่างชาติ 30-40% และได้มองการต่อยอดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ตัวอะลูมิเนียมแอโนด สังกะสี ที่ล้วนเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรีทั้งสิ้น จึงได้วิจัยเพิ่มโดยทดลองทำต้นแบบเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างเทคโนโลยี Energy Storage หรือการกักเก็บพลังงานสำหรับระบบพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานน้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงต้องการระบบกักเก็บพลังงาน จากการศึกษาเชิงลึกพบว่า เทคโนโลยีที่บริษัทฯ ทำมากว่า 10 ปีนี้ ในต่างประเทศเริ่มพัฒนาทำเป็นแบตเตอรีชนิดใหม่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำมาต่อยอดใช้งานในไทย เพื่อยกระดับศักยภาพประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

เข้าทำเนียบ บัญชีนวัตกรรม


สำหรับผลประกอบการ ไทยมารีนโพรเทคชั่น เติบโตขึ้นทุกปี สัดส่วนรายได้หลัก 80% ยังคงเป็นกลุ่มอุปกรณ์แอโนด ส่วนที่เหลือ 20% มาจากสีป้องกันสนิมซึ่งนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมทั้งสีและวัสดุอื่นที่จะเข้ามาช่วยป้องกันสนิม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทุกอุตสาหกรรม และจะทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ป้องกันสนิมครบวงจร คาดว่าในปีนี้ยอดขายจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10-15% พร้อมตั้งเป้าปีหน้าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 20%

157172228163


เมื่อเร็วๆ นี้ นวัตกรรมของบริษัท ไทยมารีนโพรเทคชั่น ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ขณะเดียวกันนวัตกรรมนี้ยังได้รับการขั้นทะเบียนอยู่ใน บัญชีนวัตกรรมไทย มีระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดภาครัฐได้มากขึ้น ทั้งนี้ สินค้านวัตกรรมที่มีเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องให้ความรู้แก่ผู้ใช้ไปพร้อมๆ กันการขาย ต้องใช้พนักงานขายที่มีความรู้ในด้านเทคนิคเพื่ออธิบายเกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจและมองเห็นถึงคุณสมบัติที่แตกต่างของสินค้า นอกจากเผยแพร่ข้อมูลผ่านฝ่ายเซลส์ แล้วยังต้องจัดสัมมนาแนะนำสินค้าและเวิร์คช้อปให้กับทีมวิศวกรของบริษัทเป้าหมาย เพื่อไปนำเสนอผู้บริหารอีกที พอเริ่มมีคนซื้อไปทดลองใช้ ผมก็ถ่ายรูปติดตามผล แล้วใช้เป็นผลงานอ้างอิงเวลาไปพรีเซนต์งานขายครั้งต่อไป กระทั่งยื่นขอเข้า บัญชีนวัตกรรม ดังกล่าวได้สำเร็จ