แคสเปอร์สกี้หนุน “ผู้หญิง” บทบาทเด่นร่วมกำหนดกลยุทธ์ "ไซเบอร์ซิเคียวริตี้" ผุดโครงการ “Women in Cybersecurity” ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมประสิทธิภาพของธุรกิจ
จากการสำรวจของแคสเปอร์สกี้ร่วมกับ 451 Research ระบุว่า ในเอ็นเตอร์ไพรซ์ 45% พบสัดส่วนจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในแผนกไอทีซีเคียวริตี้น้อยกว่าแผนกอื่นๆ ในองค์กร และมีองค์กรเพียง 37% ที่รับพนักงานหญิง หรือ กำลังพิจารณารับสมัคร หรือมีแผนงานอย่างเป็นทางการที่จะรับพนักงานหญิงเข้าทำงานในแผนกไอทีซีเคียวริตี้
หนุนความหลากหลาย
ความหลากหลายของกำลังคนในการทำงานจะทำให้เกิดความสามารถพิเศษขึ้นในองค์กร และยังปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น องค์กรที่มีกำลังคนหลากหลายจะมีรายได้สูงขึ้น 19% จากนวัตกรรม แนวคิดเรื่อง ความเสมอภาคทางเพศไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหลักสำคัญสำหรับประสิทธิภาพของธุรกิจอีกด้วย จึงมีความคิดริเริ่มในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้หญิงได้ประสบความสำเร็จในธุรกิจและก้าวหน้าทางอาชีพ เช่น เทคโนโลยี และผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังพบว่า เฉลี่ยทั่วโลกมีผู้หญิงทำงานในองค์กรคิดเป็น 39% ของแรงงานทั้งหมด และมีเพียง 25% ที่ทำงานในตำแหน่งบริหาร สำหรับแผนกความปลอดภัยไซเบอร์และแผนกไอทีทั่วไปอาจกล่าวได้ว่าเป็นสาขาที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และอาจเป็นกำแพงกั้นผู้หญิงที่จะเข้ามาทำงานในสาขานี้
จากรายงานเรื่อง “Cybersecurity through the CISO’s eyes: Perspectives on a role” พบว่า ผู้บริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ หรือ CISO จำนวน 45% ยืนยันว่าผู้หญิงเป็นคนกลุ่มน้อยในสาขานี้
ผู้หญิงในโลกไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพิ่มขึ้น
รายงานยังระบุว่า มีองค์กรเพียง 37% ที่รับพนักงานหญิง หรือกำลังพิจารณารับสมัคร หรือมีแผนงานอย่างเป็นทางการที่จะดึงดูดใจให้ผู้หญิงเข้ามาสมัครทำงานในแผนกไอที วิธีการที่เป็นที่นิยมเพื่อดึงดูด คือ การฝึกอบรมพนักงานหญิงที่มีพื้นฐานด้านไอที โดยสัดส่วนราว 80% ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งระบุว่ามีโครงการ หรือ กำลังมีโครงการจะรับนักศึกษาหญิงเข้าฝึกงานโดยเฉพาะ หรือราว 42% และพร้อมฝึกอบรมผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติ
นอกจากนี้ พบองค์กร 22% ที่จ้างผู้สมัครเพศหญิงจากแผนกอื่นในองค์กรเพื่อเข้าแผนกไอที ขณะที่องค์กร 63% ระบุว่า จะจ้างเฉพาะผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้น โดยไม่เกี่ยงว่าจะเพศใด อย่างไรก็ตาม CISO จำนวน 70% ระบุว่า การหาผู้เชี่ยวชาญไอทีที่มีทักษะในสาขาต่างๆ นั้นยากมาก จึงต้องมองหาช่องทางอื่น เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างของทักษะ (Talent Gap)
รายงานฉบับนี้ ยังพบว่า ในส่วนผู้นำด้านไอทีซีเคียวริตี้ ผู้บริหารชายมีจำนวนมากกว่าหญิง ผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งในห้า หรือราว 23% ระบุ ในแบบสอบถามว่าตัวเองเป็นเพศหญิง อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้หญิงที่ทำงานตำแหน่งบริหารแผนกไอทีซีเคียวริตี้ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามหญิงจำนวน 20% ระบุว่า ได้รับตำแหน่งผู้บริหารในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเติบโตเป็นสองเท่าเมื่อเทียบผู้ชาย