'TIME' รูปแบบใหม่สร้างคนทักษะสูง รองรับนักลงทุนต่างชาติ

'TIME' รูปแบบใหม่สร้างคนทักษะสูง รองรับนักลงทุนต่างชาติ

สอวช.ผนึกพันธมิตรประกาศเปิดตัว “TIME” กลไกล่าสุดพัฒนากำลังคนทักษะสูงครอบคลุมปวส. ปริญญาตรีและโท ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ เร่งคลอดไตรมาสแรกปี 63

ผศ.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า บริษัทต่างประเทศหรือแม้กระทั่งบริษัทในไทยมีความต้องการลงทุนในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่กลับพบปัญหาบุคลากรไม่พร้อมรองรับทั้งด้านจำนวนและศักยภาพ ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนตรงจุดนี้

157716739522

แต่การที่จะสามารถดำเนินงานไปยังทิศทางดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงต้องมีโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นฐานรองรับการย้ายฐานผลิตของนักลงทุนต่างชาติ

โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ WiL และ โครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช.จึงส่งต่อโครงการไปสู่การขยายผลโดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้บริหารจัดการและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ จะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายแนวใหม่ ที่เริ่มจากการสร้างต้นแบบให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ ก่อนจะนำไปสู่กลไกพัฒนาและขยายผลที่ยั่งยืน


โครงการนี้จะส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้เชิงวิชาการควบคู่กับทักษะด้านอุตสาหกรรม และเติบโตเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดการพัฒนาการทำงานแบบข้ามสายงานที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะแข่งขันในตลาดต่างประเทศ และถือเป็นการแก้ปัญหาบริบททางศักยภาพแรงงานได้ตรงจุด รวมทั้งในอนาคต สอวช.จะโฟกัสที่มิติรายบุคคลมากขึ้น โดยจะออกแบบแพคเกจลักษณะเป็นคูปองนำร่องโดยอิงจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มุ่งส่งเสริมให้แต่ละบุคคลได้เข้าถึงการพัฒนาทักษะ

กระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มสูบ

“การพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมนั้น ต้องมีความร่วมมือจากสามภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาอย่างเข้มข้นในทุกระดับ โดยแต่ละภาคส่วนล้วนได้ประโยชน์ร่วมกัน สถานประกอบการจะได้แรงงานทักษะสูงที่เข้าใจเนื้องานและสามารถเชื่อมการเรียนรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล ภาคการศึกษาได้รับประโยชน์ในเชิงความร่วมมือและการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้แก้ปัญหาคุณภาพบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง”

การทำกิจกรรมทั้งหมดนี้จะเน้นดีมานด์เป็นหลัก โดยโฟกัสทั้ง 5 อุตสาหกรรมและจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 7 อุตสาหกรรมในอีก 2 เดือนข้างหน้า วิธีการที่ทำคือ ใช้การสำรวจรับฟังจากทางผู้ประกอบการเป็นหลักว่ามีคีย์เวิร์ดอะไรที่เป็นทักษะสำคัญ อาทิ ความต้องการบุคลากรด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักชีวสารสนเทศ ก็จะนำมาสู่การร่างหลักสูตร ซึ่งจะส่งผลต่อ 1.การช่วยเสริมภาคเอกชนพัฒนากำลังคนและลดการลงทุนลดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้ 2.เอกชนง่ายต่อการตัดสินใจที่จ้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยยกระดับ STEM และช่วยให้การศึกษาผลิตคนได้ตรงตามความต้องการตลาด

ทั้งหมดจะทำให้ไทยเปลี่ยนบทบาทจากรูปแบบการรับจ้างผลิตเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้นมีมูลค่าสูงขึ้นทำให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง อันจะนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาค และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจีดีพีในอนาคต

บ่มเพาะสู่บุคลากรทักษะสูง

TIME เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับ ปวส.และ ปริญญาตรี ได้เข้าไปเรียนและฝึกทักษะในสถานประกอบการเสมือนเป็นพนักงาน และได้เรียนรายวิชาตามหลักสูตรหลังเลิกงานหรือวันหยุดในสถานที่ที่สถานประกอบการจัดให้ ส่วนปริญญาโทเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโท พร้อมกับเข้าทำงานเต็มเวลาในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยจัดให้มีการเรียนและการฝึกทักษะการทำงานตามกระบวนการการพัฒนาบุคลากรผู้มีความรู้ด้านการจัดการนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมในสถานประกอบการ เพื่อดำเนินโครงการนวัตกรรมและนำเสนอเป็นผลงานทางวิชาการผ่านโครงการวิทยานิพนธ์

157716741930

ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า กระบวนการในเบื้องต้นจะเป็นการทำงานเชิงรุก มีภารกิจหลักในการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรโดยโฟกัสอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ด้วยการศึกษากับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 11 บริษัทและเจาะจงศักยภาพที่ต้องการในอนาคตว่ามีทักษะอะไรบ้าง จึงนำมาสู่การเริ่มนำร่อง 26 อาชีพใหม่ และได้มีการเทรนด์ไปแล้วกว่า 6 พันคน โดย TIME มีการปรับปรุงเนื้อหาระบบมาตรฐานสำหรับการวิจัยพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม (RDI QS) ให้สอดคล้องและครอบคลุมหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และการหามาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง

"คาดหวังว่า TIME จะช่วยบ่มเพาะให้นักศึกษาก้าวสู่การเป็น บุคลากรทักษะสูง ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระดับประเทศช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสถานศึกษาจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท" ฐิตาภา กล่าว

“คอมแพ็ค”หนุนนวัตกรรมทวิภาคี

157716748197

มีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสายงานด้านเทคนิค บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวว่า คอมแพ็คได้เข้าร่วมโครงการโดยจับคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมทั้งจัดสรรเงินสนับสนุนในส่วนของเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน ค่าบำรุงการศึกษาตลอดระยะเวลา 2 ปี มีครูพี่เลี้ยง อำนวยความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งได้รับวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน และไม่มีสัญญาผูกมัดหลังจบโครงการ จึงนับเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาจากโครงการเก่านั้น บริษัทมีนักศึกษาสนใจเข้ารับการทำงานจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 นักศึกษาที่จบจากโครงการนี้ไปส่วนใหญ่จะกลับเข้ามาทำงานที่นี่ และพร้อมเริ่มงานได้ทันที เนื่องจากสกิลที่ได้รับการบ่มเพาะไปนั้นคือพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

“การที่จะเพิ่มทักษะของนักศึกษาได้นั้นจะต้องได้รับการบ่มเพาะจากสถานการณ์จริงมากกว่าการเรียนในห้องเรียน จึงถือได้ว่าโครงการนี้สามารถยกระดับขีดความสามารถของตัวนักศึกษา และเมื่อได้เรียนในโครงการนี้ทุกคนจะเข้าใจและเห็นอนาคตของตัวเองอย่างชัดเจน การันตีได้ว่าถ้าจบไปจะมีงานทำอย่างแน่นอน” มีชัย กล่าว