วช.โชว์ผลงานเด่นปี 62 พร้อมเล็งทิศทางปี 63 มุ่งตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0
วช.โชว์ผลงานเด่น ประจำปี 2562 และผลงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมเผยทิศทางการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 เน้นตอบโจทย์ BCG มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0
นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอว. ในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลสัมฤทธิ์ มีผลการดำเนินงานที่เกิด impact สูงต่อเศรษฐกิจและสังคม มีการริเริ่มงานใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ โดย วช. มีความพร้อมและยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่ด้วยหลัก วช. 5G เป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว พร้อมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
บทบาท PMU บริหารจัดการงานวิจัย-นวัตกรรม
PMU เป็นกลไลสำคัญในการบริหารงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ ววน. ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารจัดการทุนภายใต้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการให้ทุนเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบ
ในการบริหารจัดการทุนในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ถือเป็นมิติใหม่ของการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม เป็นแบบ Streamline Process คือ ใช้ระบบ Online 100% มีกลไก Outcome Delivery Units (OUD) เชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เป็นการให้ทุนแบบ Program Funding และ Matching fund กับภาคเอกชน รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผล โดยทุกภารกิจมีการเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
นอกจากการบริหารงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแล้ว การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยฯ ที่ตอบเป้าหมายประเทศ มีกลไกการสร้างแรงจูงใจ ทั้งในเชิงการให้รางวัลแก่นักวิจัยในทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักวิจัยรุ่นเยาว์ นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยอาวุโส โดยมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนนักวิจัยไม่น้อยกว่า 25 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน ในปี 2564 และ 60 คน ต่อ 1 หมื่นคน ในปี 2579
ฐานข้อมูลกลางการวิจัยของประเทศ
วช. พร้อมเป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติกับระบบสารสนเทศของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะ และ Artificial Intelligent (AI) ที่สามารถแสดงผลได้ทุกมิติในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนับสนุน การตัดสินใจเชิงบริหาร และการใช้ข้อมูลร่วมกัน โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกต่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย
การดำเนินงานระบบข้อมูลสารสนเทศกลางด้าน ววน. ในปีงบประมาณ 2562 ได้มีการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการกำหนด Road Map และ Time line ในการดำเนินงาน รวมถึงมาตรฐานและชุดข้อมูลเพื่อการเชื่องโยง และออกแบบระบบฐานข้อมูลกลางและระบบให้บริการข้อมูล โดยคาดหวังว่าเมื่อศูนย์กลางข้อมูล ววน. ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะเกิดประโยชน์ต่อประชาคมในระบบวิจัย
วิจัยไทยใช้ได้จริง
วช. ได้สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้ อาทิ1.โครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ขับเคลื่อนแผนบูรณาการให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงการขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชน สามารถเพิ่มทรัพยากรในทะเลให้มากขึ้น ทำให้ชาวประมงมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้วจำนวน 531 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด 2.ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำ Platform ที่มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เป็นมาตราฐานเดียวกัน 3.การปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา เป็นความสำเร็จในส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไทยไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี จากเดิมประเทศไทยมีปัญหาการส่งออกมะม่วงสุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีการบริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร จนได้คุณภาพดีตามข้อกำหนดเพื่อให้แน่ใจว่าผลไม้ที่นำเข้าประเทศจะปลอดภัยและไม่มีเชื้อโรคหรือแมลงพาหะปนเปื้อน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ BCG Model โดยประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงล็อตแรกแล้วเมื่อวันที่ 17 – 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ผลงานวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับโลก
การสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าสู่เวทีนานาชาติเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ของ วช. ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยนักประดิษฐ์ไทย ได้ก้าวสู่เวทีระดับสากลอันจะเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัย นักประดิษฐ์นานาชาติ และพัฒนายกระดับศักยภาพของนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ตลอดจนการสร้างขวัญกำลังใจ ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดโลกให้มากยิ่งขึ้น จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จ ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ
มาตราฐานการวิจัยระดับสากล
ยกระดับมาตราฐานห้องปฏิบัติการ สู่การขับเคลื่อนมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล โดยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation) จำนวน 240 ห้องปฏิบัติการ และบุคคลากรได้รับการพิจรณา ประกอบด้วย มีผู้ประเมิน มอก. 41 คน และผู้ประเมินตามเกณฑ์ (peer evaluation) 57 คน
การวิจัยมุ่งเป้าเพื่อประชาชน
วช. สนับสนุนโครงการวิจัยท้าทายไทยแก้ปัญหาท้าทายของประเทศ ตัวอย่างของผลสำเร็จ เช่น ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ซึ่ง วช. ได้ให้การสนับสนุนม.ขอนแก่น ร่วมกับโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผ่านโครงการวิจัยการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อศึกษาในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกฉียงเหนือแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีอย่างทันเวลา ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายนวัตกรรมที่ได้ไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่ทำให้เกิดการระบาดกลับมายังประเทศไทย
วิจัยเพื่อผลิตดอกออกผล
วช. ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น “เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้ง” เป็นเครื่องอบแห้งขนาดเล็ก ที่ช่วยลดระยะเวลาและพื้นที่ตากผลผลิตทางการเกษตร โดย วช. ได้มอบเครื่องดังกล่าวให้แก่เกษตรกร ใน 17 จังหวัด ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดี ลดระยะเวลาการผลิตและความเสี่ยงในการผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศ
เชื่อมไทยเชื่อมโลกด้วยงานวิจัย
วช. ได้มีการขับเคลื่อนเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ (ไทย-จีน) ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)” โดย วช. ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสองประเทศ โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย นอกจากนี้ยังได้ร่วมจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิดัลหนึ่งแถบหนึ่งหนึ่งเส้นทาง (DBAR) กรุงเทพฯ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาค และพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการวิจัยและบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ วช. ยังมีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง วช. และ Korea Institute of Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP) สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้ร่วมผลักดันการวิจัยที่ตอบโจทย์นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่นำผลการวิจัยแก้ไขปัญหาชาติ และสร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคอาเซียนโดยใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิยุทธศาสตร์ พร้อมส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นเลิศจากสาธารณรัฐเกาหลี
ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา วช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าสู่เวทีนานาชาติในระดับโลก ปี 2562 ที่ผ่านมานักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติใน 2 เวที คือ เวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเวที “Seoul International Invention Fair 2019” (SIIF 2019) ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 วช. ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณและแสดงความขอบคุณนักวิจัยที่เข้าร่วมงานประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ
ในปี 2563 วช.และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป